(ภาพจากองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน : ดาวเทียมสื่อสารเชวี่ยเฉียว-2 (ตรงกลาง) แยกตัวจากจรวดขนส่ง วันที่ 20 มี.ค. 2024)
เหอเฝย, 20 พ.ค. (ซินหัว) -- ห้องปฏิบัติการสำรวจอวกาศห้วงลึกของจีนเปิดเผยว่าดาวเทียมเชวี่ยเฉียว-2 (Queqiao-2) ซึ่งเป็นดาวเทียมถ่ายทอดสัญญาณสำหรับภารกิจลงจอดบนดวงจันทร์ของจีน เตรียมสนับสนุนความพยายามสำรวจดวงจันทร์ในอนาคตของประเทศอื่นๆ
ดาวเทียมดังกล่าวทำหน้าที่สนับสนุนการสื่อสารระหว่างโลกและดวงจันทร์สำหรับภารกิจฉางเอ๋อ-6 (Chang'e-6) ของจีน ซึ่งสามารถเก็บตัวอย่างมาจากด้านไกลของดวงจันทร์ และจะให้บริการถ่ายทอดสัญญาณสำหรับภารกิจลงจอดบนดวงจันทร์จากจีนและประเทศอื่นๆ อีกด้วย
เชวี่ยเฉียว-2 หรือที่รู้จักในชื่อแม็กพาย บริดจ์ 2 (Magpie Bridge 2) ถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศเมื่อเดือนมีนาคม 2024 ได้รับการติดตั้งอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ 3 รายการ ได้แก่ กล้องบันทึกภาพด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตเข้มข้น อุปกรณ์ถ่ายภาพที่ใช้เทคนิคการเข้ารหัสแบบสองมิติ และระบบทดลองการแทรกสอดระยะไกล (VLBI) ระหว่างโลกและดวงจันทร์
ดาวเทียมดวงนี้ดำเนินงานอย่างเสถียรมาเป็นเวลา 14 เดือนแล้ว โดยทำภารกิจทางวิทยาศาสตร์หลายรายการ อาทิ การถ่ายภาพชั้นพลาสมาและแมกนีโตสเฟียร์ของโลกในวงกว้าง และการทดลองการแทรกสอดระยะไกลในระบบโลก-ดวงจันทร์
กล้องบันทึกภาพด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตเข้มข้นของดาวเทียมข้างต้น สามารถถ่ายภาพชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ (ionosphere) ขนาด 83.4 นาโนเมตรได้เป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งให้ข้อมูลสำคัญสำหรับการศึกษาผลกระทบของกิจกรรมของดวงอาทิตย์ที่มีต่อชั้นพลาสมาสเฟียร์
ส่วนระบบทดลองการแทรกสอดระยะไกลของเชวี่ยเฉียว-2 ประสานงานกับกล้องโทรทรรศน์วิทยุเซี่ยงไฮ้ 65 เมตร จนขยายการสังเกตการณ์พื้นฐานเป็น 3.8 แสนกิโลเมตร และประสบความสำเร็จในการสังเกตการณ์เป้าหมายในอวกาศห้วงลึก เช่น แหล่งกำเนิดคลื่นวิทยุ A00235 และยานโคจรของฉางเอ๋อ-6
นอกจากนี้ ดาวเทียมเชวี่ยเฉียว-2 เตรียมมีบทบาทสำคัญในภารกิจฉางเอ๋อ-7 และฉางเอ๋อ-8 ในอนาคตของจีน โดยจีนมีแผนปล่อยยานฉางเอ๋อ-7 ในราวปี 2026 เพื่อสำรวจสภาพแวดล้อมและทรัพยากรของขั้วใต้บนดวงจันทร์ ส่วนภารกิจฉางเอ๋อ-8 ซึ่งมีกำหนดปล่อยในราวปี 2028 จะทำการทดลองเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรบนดวงจันทร์