สิงคโปร์, 20 พ.ค. (ซินหัว) -- วันอังคาร (20 พ.ค.) ตัน เกียต ฮาว รัฐมนตรีอาวุโสประจำกระทรวงการพัฒนาชาติของสิงคโปร์ เปิดเผยว่าสิงคโปร์จะขยายพื้นที่ดำเนินโครงการนำร่องการจัดการประชากรนกพิราบ หลังจากผลการทดลองในพื้นที่ตอนกลางของประเทศเป็นที่น่าพึงพอใจ
รายงานระบุว่าโครงการนำร่องนี้เริ่มต้นเดือนมิถุนายน 2024 ในสามพื้นที่ทางตอนกลางของสิงคโปร์และสามารถลดประชากรนกพิราบลงราวร้อยละ 50 รวมถึงข้อเรียกร้องจากประชาชนที่เกี่ยวกับนกพิราบลดลงประมาณร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์
คณะกรรมการสวนสาธารณะแห่งชาติ สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และสำนักงานอาหารสิงคโปร์ เป็นผู้ดำเนินโครงการนำร่องนี้ที่ครอบคลุมมาตรการขยายบริการเชิงรุกสู่สาธารณชนและการบังคับใช้กฎหมายเพื่อปรับปรุงการจัดการขยะและเศษอาหารตามศูนย์กำจัดขยะและศูนย์อาหารริมทาง พร้อมป้องกันการให้อาหารนกอย่างผิดกฎหมาย
ตันกล่าวว่ามีการตรวจตราจุดที่มักเกิดการให้อาหารนกอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งนำสู่การดำเนินการทางกฎหมายกับการให้อาหารนกอย่างผิดกฎหมาย 50 กรณี
สำหรับการขยายพื้นที่ดำเนินโครงการนำร่องนี้จะเป็นพื้นที่ทางตอนเหนือและตอนใต้ของสิงคโปร์ โดยหากประสบความสำเร็จด้วยดีจะมีการขยายพื้นที่ดำเนินโครงการนำร่องนี้ไปทั่วทั้งสิงคโปร์ เพื่อช่วยจัดการประชากรนกพิราบ
สื่อท้องถิ่นสิงคโปร์รายงานว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเสริมสร้างเกราะป้องกันทางสาธารณสุข เนื่องจากนกพิราบสามารถแพร่เชื้อแบคทีเรีย รวมถึงเชื้อซาลโมเนลลา (salmonella) อันก่อให้เกิดอาการท้องเสีย มีไข้ และปวดท้อง รวมถึงก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคออร์นิโทซิสหรือไข้นก (ornithosis) ที่ทำให้มีอาการไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
(แฟ้มภาพซินหัว : ทิวทัศน์ดวงอาทิตย์ขึ้นในสิงคโปร์ วันที่ 18 เม.ย. 2025)