(แฟ้มภาพซินหัว : ผู้คนรับชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาในเมืองบอสตันของสหรัฐฯ วันที่ 8 เม.ย. 2024)
นิวยอร์ก, 28 พ.ย. (ซินหัว) -- เมื่อวันอังคาร (26 พ.ย.) นิวยอร์ก ไทม์ส (New York Times) รายงานว่าปัจจุบันชาวอเมริกันมีลูกน้อยลงกว่าเมื่อก่อน ซึ่งเป็นแนวโน้มด้านประชากรที่ทำให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมบางส่วนรู้สึกกังวล โดยสาเหตุบางประการอาจเป็นผลมาจากปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจ เช่น ค่าเลี้ยงดูลูกที่สูง ราคาบ้าน และผู้คนเลือกที่จะไม่สร้างครอบครัวกันมากขึ้น
ข้อมูลตัวเลขจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ ช่วงก่อนหน้านี้ในปี 2024 เผยว่าอัตราเจริญพันธุ์ทั่วไปในสหรัฐฯ ลดลงจากปี 2022 ร้อยละ 3 ซึ่งต่ำเป็นประวัติการณ์ และลดลงสองปีติดต่อกัน หลังจากเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1 ในช่วงปี 2020-2021 โดยลดลงอย่างต่อเนื่องร้อยละ 2 ต่อปีตั้งแต่ปี 2014-2020
ศูนย์ฯ วัดอัตราเจริญพันธุ์ทั่วไปโดยอิงจำนวนการให้กำเนิดบุตรที่มีชีวิตรอดต่อปี ในผู้หญิง 1,000 คน ที่มีอายุระหว่าง 15-44 ปี โดยในปี 2023 ซึ่งเป็นปีที่มีข้อมูลล่าสุด พบว่ามีการให้กำเนิดบุตรราว 54 คนต่อผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ 1,000 คน ซึ่งมีจำนวนต่ำเป็นประวัติการณ์
อีกวิธีการหนึ่งที่ทีมนักวิจัยใช้พิจารณาภาวะเจริญพันธุ์คือการใช้อัตราเจริญพันธุ์รวม ซึ่งเป็นการประมาณการจำนวนบุตรโดยเฉลี่ยที่คาดว่าผู้หญิงจะมีในช่วงวัยเจริญพันธุ์ โดยในปี 2023 อัตราเจริญพันธุ์รวมในสหรัฐฯ อยู่ที่เด็กทารกกว่า 1.6 คนต่อผู้หญิง 1 คน ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขเด็กทารกราว 2 คนต่อผู้หญิง 1 คนที่บันทึกเมื่อปี 2001
ศูนย์ฯ คำนวณอัตราการเกิดโดยนำจำนวนการให้กำเนิดบุตรที่มีชีวิตรอดในหนึ่งปีหารด้วยจำนวนประชากรทั้งหมด เช่น ในปี 1995 มีจำนวนการเกิด 14.8 คนต่อประชากร 1,000 คน และในปี 2022 มีจำนวนการเกิด 11 คนต่อประชากรทุกๆ 1,000 คน
ขณะเดียวกัน ศูนย์ฯ ยังติดตามภาวะมีบุตรยากโดยประเมินจำนวนผู้หญิงแต่งงานแล้วที่มีอายุ 15-49 ปี ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปีและไม่ตั้งครรภ์ ตัวชี้วัดนี้ไม่รวมผู้หญิงที่ทำหมันด้วยการผ่าตัด โดยอัตราภาวะมีบุตรยากค่อนข้างคงที่ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งข้อมูลล่าสุดจากปี 2015-2019 เผยว่าผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่แต่งงานแล้ว 2.4 ล้านคนมีบุตรยาก