อักกรา, 22 ก.ย. (ซินหัว) -- "กานา" ที่ซึ่งครั้งหนึ่งเป็นบ้านหลังใหญ่ของชาวแอฟริกันนับไม่ถ้วนที่ถูกบีบบังคับเป็นทาส กลายเป็นแหล่งกำเนิดขบวนการเคลื่อนไหวเพื่ออิสรภาพของแอฟริกา รวมถึงแนวคิดความเป็นหนึ่งเดียวกันของชาวแอฟริกันทั้งผอง (Pan-Africanism) ในศตวรรษที่ 20 โดยรัฐบาลกานาดำเนินโครงการ "ปีแห่งการกลับมา" (Year of Return) ในปี 2019 ซึ่งเชื้อเชิญลูกหลานของชาวแอฟริกันที่ถูกจับไปเป็นทาสมาย้อนรอยรากเหง้าของตัวเอง
(แฟ้มภาพซินหัว : ปราสาทเคป โคสต์ อดีตสถานที่กักขังทาส ในกานา วันที่ 19 มิ.ย. 2024)
อดีตอันมืดมน
ปราสาทเคป โคสต์ (Cape Coast Castle) บนชายฝั่งตอนกลางของกานา ถือเป็นหนึ่งในปราสาทกว่า 60 แห่งตามแนวชายฝั่งแอฟริกาตะวันตก ซึ่งชาวยุโรปก่อสร้างขึ้นมากักขังชาวแอฟริกันที่ถูกจับเป็นทาส เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การค้าทาสข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกหรือ "สามเหลี่ยมค้าทาส" ที่เชื่อมโยงยุโรป แอฟริกา และอเมริกา
เหล่าผู้ค้าทาสจะล่องเรือจากยุโรปมายังแอฟริกาตะวันตกพร้อมสินค้าอย่างไวน์ ผ้า และปืน ต่อจากนั้นขนส่งชาวแอฟริกันที่ถูกจับเป็นทาสข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกผ่านการเดินทางนาน 6-10 สัปดาห์ สุดท้ายพวกทาสถูกขายแก่เจ้าของเรือกสวนไร่นาและเหมืองแร่ในอเมริกา ส่วนผู้ค้าทาสกลับยุโรปพร้อมสินค้าเกษตรและแร่ธาตุปริมาณมาก
จอห์น แรนดอล์ฟ สเปียร์ นักเขียนชาวอเมริกัน เจ้าของหนังสือ "การค้าทาสของอเมริกา : ต้นกำเนิด การเติบโต และการกดขี่" บรรยายถึงการเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกของเรือขนส่งทาส ที่ซึ่งทาสผู้ชายถูกจับใส่กุญแจมือเป็นคู่ และถูกบังคับให้นอนราบหรือนอนตะแคงในสภาพแออัดจนหายใจได้ไม่เต็มปอด
สภาพอันย่ำแย่ดังกล่าวบวกกับการเดินทางยาวไกลส่งผลให้ทาสเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 15 นอกจากนั้นหากเสบียงบนเรือเหลือน้อย ผู้ค้าทาสยังจะจับทาสที่อ่อนแอที่สุดโยนลงทะเลเพื่อเบาเรือ และค่อยร้องขอสินไหมทดแทนกรณี "สินค้าสูญหาย" ในภายหลัง
ทั้งนี้ มิสซูรี เชอร์แมน-ปีเตอร์ ผู้สังเกตการณ์ถาวรประจำประชาคมแคริบเบียนแห่งสหประชาชาติ เผยว่ามีชาวแอฟริกันถูกบีบบังคับจับเป็นทาสตลอดระยะเวลา 4 ศตวรรษราว 12-20 ล้านราย
(แฟ้มภาพซินหัว : พวงหรีดที่ห้องขังใต้ดินของปราสาทเคป โคสต์ อดีตสถานที่กักขังทาส ในกานา วันที่ 19 มิ.ย. 2024)
ทำงานหนักจนตาย
ประตูที่มิอาจหวนกลับ (Door of No Return) บนชายฝั่งของเบนิน ซึ่งอยู่ห่างจากปราสาทเคป โคสต์ ราว 450 กิโลเมตร เป็นอีกหนึ่งอนุสรณ์สถานที่รำลึกถึงชาวแอฟริกันผู้ถูกบีบบังคับจับตัวจาก "ชายฝั่งทาส" (Slave Coast) ซึ่งหมายถึงพื้นที่บางส่วนของโตโก เบนิน และไนจีเรียในยุคใหม่
บรรดาเจ้าของไร่อ้อยในบราซิลนั้นมองหาทาสชาวแอฟริกันเพิ่มขึ้นเพราะเล็งเห็นว่าทนโรคภัยไข้เจ็บและควบคุมง่ายกว่า ทำให้มีการขนส่งทาสชาวแอฟริกันสู่บราซิลราว 1.7 แสนรายภายในปี 1630 และอ้อยกลายเป็นพืชผลที่เชื่อมโยงกับการค้าทาสโดยปริยาย
ลิซา ลินด์เซย์ นักวิชาการชาวอเมริกัน เจ้าของหนังสือ "จับเป็นสินค้า : การค้าทาสข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก" ระบุว่าเจ้าของไร่อ้อยคำนวณต้นทุนแรงงานและพบว่าการใช้งานทาสจนตายแล้วซื้อทาสคนใหม่มาแทนนั้นทำกำไรมากกว่าปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของทาสคนเก่าให้ดีขึ้น
(แฟ้มภาพซินหัว : อนุสรณ์สถาน "ประตูที่มิอาจหวนกลับ" ในเบนิน วันที่ 27 พ.ค. 2024)
ความเลวร้ายของทุนนิยม
หลายเมืองอย่างแมนเชสเตอร์ ลิเวอร์พูล ลอนดอน บริสโทล น็องต์ บอร์โด อัมสเตอร์ดัม และเซลันด์ เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาจากการค้าทาสอันโหดร้าย โดยกำไรจากการค้าขายอันไร้มนุษยธรรมนี้ขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตและขนส่งทั่วยุโรป
เหล่าผู้ค้าทาสมักเริ่มต้นด้วยเงินทุนไม่มากแต่กลับทำกำไรมหาศาล โดยกัปตันเรือคนหนึ่งทำกำไรสุทธิกว่า 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.31 ล้านบาท) ในการเดินทางขาเดียวในปี 1827 แม้ค่าใช้จ่ายตั้งต้นไม่ถึง 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.31 แสนบาท)
การค้าทาสยังกระตุ้นการเติบโตของภาคธุรกิจการเงินและประกันภัยของยุโรป โดยธนาคารและบริษัทประกันภัยดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการค้าทาส ขณะผู้ค้าชาวตะวันตกที่กอบโกยเงินจากการค้าทาสกลายเป็นนักการธนาคาร ทำการลงทุนในกิจการเกิดใหม่ด้วยเงินกำไรที่เปื้อนเลือด
ด้วยเหตุนี้ การค้าทาสข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งกินระยะเวลานานกว่า 400 ปี ได้สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยแก่ชาติตะวันตกและมีบทบาทสำคัญต่อการสะสมเงินทุน สะท้อนความจริงอันโหดเหี้ยมของกระบวนการโลกาภิวัฒน์ที่นำโดยชาติเหล่านี้
(แฟ้มภาพซินหัว : ด้านนอกสำนักงานใหญ่สหภาพแอฟริกาในเมืองแอดดิส อาบาบา ของเอธิโอเปีย วันที่ 17 ก.พ. 2024)
เบื้องหลังการเลิกทาส
นักประวัติศาสตร์บางส่วนมองว่าการเลิกทาสนั้นไม่ได้เกิดจากการตาสว่างทางศีลธรรมอย่างฉับพลัน แต่เป็นผลลัพธ์จากหลายปัจจัย ทั้งการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการผลิต การถกเถียงทางศีลธรรม และความท้าทายทางกฎหมาย
นอกจากนั้นผู้ค้าทาสและเจ้าของทาสที่ถูกเรียกร้องให้ปลดปล่อย "ทรัพย์สิน" อย่างทาสกลับได้รับเงินชดเชยมหาศาล ดังเช่นบรรพบุรุษของเดวิค คาเมรอน อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ซึ่งได้รับเงินก้อนโตหลังจากผ่านกฎหมายเลิกทาส ปี 1833
ขณะเดียวกันชาวแอฟริกันไม่เคยล้มเลิกจะต่อต้านการค้าทาส โดยมีการลุกฮือต่อต้านขนานใหญ่ปะทุขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 โดยเฉพาะการปฏิวัติเฮติ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากสงครามปฏิวัติอเมริกาและการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งการลุกฮือเหล่านี้ได้เพิ่มต้นทุนของการมีทาส
อย่างไรก็ดี ชาวแอฟริกันที่ถูกบีบบังคับจับเป็นทาสหลายล้านคนกลับไม่ได้อะไรเลยสำหรับการทนทุกข์ทรมานนานหลายศตวรรษ
(แฟ้มภาพซินหัว : ปราสาทเคป โคสต์ อดีตสถานที่กักขังทาส ในกานา วันที่ 19 มิ.ย. 2024)
แอฟริกาต้องเป็นหนึ่งเดียวกัน
หลังจากกานาประกาศอิสรภาพครบปีแล้ว มีการจัดประชุมกลุ่มรัฐแอฟริกาที่เป็นอิสระ ครั้งที่ 1 ณ กรุงอักกราของกานาในเดือนเมษายน 1958 ซึ่งวางรากฐานสู่สิ่งที่กลายเป็นองค์การเอกภาพแอฟริกา (OAU) ในปี 1963 โดยองค์การฯ ที่มีบทบาทสำคัญต่อการปลดปล่อยแอฟริกาและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างรัฐได้ยกสถานะเป็นสหภาพแอฟริกา (AU) ในปี 2002
ณ การประชุมร่วมระหว่างสหภาพแอฟริกากับประชาคมแคริบเบียน ณ กรุงอักกราในเดือนพฤศจิกายน 2023 คณะผู้แทนของสองฝ่ายเห็นพ้องการจัดตั้งกองทุนเงินชดเชยระดับโลก ซึ่งเป็นแผนริเริ่มที่แสวงหาการขอโทษและการชดเชยจากชาติยุโรปสำหรับความเลวร้ายของการค้าทาส
อากูโฟ-อัดโด ประธานาธิบดีกานา ซึ่งร่วมการประชุมข้างต้น เน้นย้ำว่าแม้ไม่มีเงินก้อนใดสามารถฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดจากการค้าทาสข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก แต่ประเด็นค่าปฏิกรรมชดเชยเป็นหนึ่งสิ่งที่โลกต้องสู้หน้าและมิอาจเพิกเฉยต่อไปได้อีกแล้ว
ประชาชนชาวแอฟริกันมิเคยลืมเลือนความป่าเถื่อนของอดีตที่ผ่านมา แต่ประชาชนชาวแอฟริกันกำลังมีความมั่นใจและเพิ่มพลังให้กับตัวเองยิ่งขึ้น เพื่อต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมและสิทธิที่พวกเขาสมควรได้สมควรมี ขณะร่วมเป็นส่วนหนึ่งใน "โลกใต้" (Global South) ที่กำลังมีอิทธิพลเพิ่มขึ้น