พนมเปญ, 11 มี.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันจันทร์ (10 มี.ค.) องค์การอัปสราแห่งชาติกัมพูชารายงานการค้นพบส่วนพระวรกายของพระพุทธรูปอายุหลายศตวรรษระหว่างการขุดสำรวจปราสาทตาพรหมภายในอุทยานโบราณคดีอังกอร์ ครั้งที่ 2 ภายใต้ความร่วมมือกับสำนักสำรวจทางโบราณคดีอินเดียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
เนธ ไซมอน นักโบราณคดี เผยว่าการขุดสำรวจพื้นที่นอกกำแพงศิลาแลงทางตะวันออกเฉียงเหนือของเฉลียงแห่งที่ 3 ของปราสาทตาพรหมนำสู่การค้นพบส่วนพระวรกายของพระพุทธรูป ขนาดสูง 1.16 เมตร ช่วงไหล่กว้าง 56 เซนติเมตร โดยขาดส่วนพระเศียร พระบาท และพระหัตถ์ขวา
พระพุทธรูปที่ค้นพบนี้มีลักษณะสวมจีวรและผ้าคลุม พร้อมเครื่องประดับ และอยู่ในท่าพระหัตถ์ซ้ายวางบนอก ซึ่งเป็นสิ่งพบได้น้อยในศิลปะขอม โดยคณะนักโบราณคดีระบุว่าส่วนลำตัวของพระพุทธรูปองค์นี้ตรงกับชิ้นส่วนพระหัตถ์และพระบาทที่ค้นพบก่อนหน้านี้ระหว่างการขุดสำรวจครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2024
ไซมอนกล่าวว่ามีการสแกนและเปรียบเทียบส่วนพระเศียรของพระพุทธรูป ซึ่งถูกค้นพบปี 1927 และปัจจุบันอยู่ที่ศูนย์อนุรักษ์นครวัด กับส่วนพระวรกายที่ค้นพบใหม่ โดยผลการเปรียบเทียบจะช่วยให้เกิดการประกอบรวมพระพุทธรูปที่มีสภาพเกือบสมบูรณ์ และยังคงขาดเพียงส่วนพระหัตถ์ขวาเท่านั้น
อนึ่ง ปราสาทตาพรหมถูกก่อสร้างขึ้นช่วงปลายศตวรรษที่ 12 ในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จัดเป็นปราสาทแห่งสำคัญของอุทยานโบราณคดีอังกอร์ ส่วนการขุดสำรวจมีเป้าหมายจัดระเบียบและอนุรักษ์โบราณวัตถุจำนวนมากที่กระจัดกระจายอยู่ภายในอาณาเขตปราสาทตาพรหม
(ภาพจากองค์การอัปสราแห่งชาติกัมพูชา : ประตูทิศตะวันออกของปราสาทตาพรหมที่ได้รับความเสียหายในจังหวัดเสียมราฐของกัมพูชา)