เฉิงตู, 23 พ.ค. (ซินหัว) -- การประชุมคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยเขื่อนขนาดใหญ่ ครั้งที่ 28 ในเมืองเฉิงตู มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เปิดเผยว่าอ่างเก็บน้ำและเขื่อนของจีนครองอันดับหนึ่งของโลกทั้งด้านจำนวนและกำลังการผลิตติดตั้ง
ผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ชี้ว่าจีนได้พัฒนาแนวทางที่ครอบคลุมและเป็นระบบในการบรรเทาความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศผ่านโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทั่วโลก
สำนักบริหารพลังงานแห่งชาติจีนระบุว่าจีนก่อสร้างเขื่อนแล้วกว่า 94,000 แห่ง เมื่อนับถึงเดือนธันวาคม 2024 ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดในโลก และมีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำติดตั้งรวมทั่วประเทศ 436 ล้านกิโลวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นไฟฟ้าพลังน้ำแบบที่กักเก็บในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ 377 ล้านกิโลวัตต์
ส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าพลังน้ำต่อปีอยู่ที่ 1.42 ล้านล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ครองสัดส่วนร้อยละ 57 ของผลผลิตพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดของจีน
ทั้งนี้ ความจุอ่างเก็บน้ำทั้งหมดของจีนใกล้แตะ 1 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งรวมถึงความจุเพื่อการควบคุมน้ำท่วมกว่า 1.85 แสนล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำเหล่านี้สามารถจ่ายน้ำได้ปีละ 2.7 แสนล้านลูกบาศก์เมตร และสนับสนุนการเพาะปลูกในพื้นที่เกษตรกรรม 532 ล้านหมู่ (ราว 221 ล้านไร่)
(แฟ้มภาพซินหัว : ทิวทัศน์เขื่อนตานเจียงโข่วในมณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน วันที่ 30 พ.ย. 2024)