(แฟ้มภาพซินหัว : ทิวทัศน์หิมะในมณฑลชิงไห่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 8 มี.ค. 2025)
อุรุมชี, 6 พ.ค. (ซินหัว) -- ผลการศึกษาจากสถาบันนิเวศวิทยาและภูมิศาสตร์ซินเจียง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ซึ่งเผยแพร่ผ่านวารสารจดหมายวิจัยทางธรณีฟิสิกส์ (Geophysical Research Letters) เตือนว่าภาวะโลกร้อนมีแนวโน้มกระตุ้นการเกิด "ภัยแล้งหิมะ" (snow drought) บ่อยขึ้นในอนาคต
ภัยแล้งหิมะเกิดขึ้นเมื่อหิมะละลายตามฤดูกาลต่ำผิดปกติ ซึ่งแบ่งเป็นแบบ "แห้ง" (dry) เกิดจากปริมาณน้ำฝนในฤดูหนาวต่ำกว่าปกติ แบบ "อบอุ่น" (warm) เกิดจากอุณหภูมิสูงขึ้นจนนำสู่ฝนตกมากกว่าหิมะตกหรือหิมะละลายเร็วแม้ระดับน้ำฝนปกติ และแบบ "ผสม" (compound) คือการรวมกันของสภาพแห้งและสภาพอบอุ่น
คณะนักวิจัยใช้การคาดการณ์สภาพภูมิอากาศหลายรูปแบบมาวิเคราะห์แนวโน้มระยะยาวของความถี่ในการเกิดภัยแล้งหิมะภายใต้สถานการณ์การปล่อยมลพิษแบบต่างๆ ซึ่งพบแนวโน้มความถี่สูงขึ้นต่อเนื่องจนถึงสิ้นศตวรรษ โดยความถี่ในการเกิดภัยแล้งหิมะอาจเพิ่มขึ้นสามเท่าภายใต้สถานการณ์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับปานกลาง (SSP2-4.5) และเพิ่มขึ้นสี่เท่าภายใต้สถานการณ์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับสูง (SSP5-8.5) ภายในปี 2100 เมื่อเทียบกับค่าฐานในปี 1981
นอกจากนั้นภัยแล้งหิมะแบบอบอุ่นมีแนวโน้มเกิดบ่อยขึ้นมากในอนาคต ซึ่งอาจครองสัดส่วนประมาณร้อยละ 65 ของภัยแล้งหิมะทั้งหมดภายในปี 2050 โดยความถี่ของภัยแล้งหิมะแบบอบอุ่นอาจเพิ่มขึ้น 6.6 เท่าภายใต้สถานการณ์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับสูง ส่วนแบบผสมอาจเป็นความเสี่ยงใหญ่ขึ้นต่อระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำด้วยการเกิดบ่อยขึ้น 3.7 เท่า
ผลการศึกษานี้ยังพบว่าภูมิภาคที่ตั้งอยู่ละติจูดกลางและละติจูดสูงมีแนวโน้มเผชิญภัยแล้งหิมะบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้นด้วย
อนึ่ง การศึกษานี้ได้มอบข้อมูลเชิงลึกทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญต่อการวางยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางน้ำ รวมถึงความพยายามปรับตัวตามสภาพภูมิอากาศทั่วโลก