(แฟ้มภาพซินหัว : กลุ่มควันลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าในกรุงเคียฟของยูเครน วันที่ 27 ก.พ. 2022)
ปักกิ่ง, 10 เม.ย. (ซินหัว) -- เมื่อไม่นานนี้ มาร์โค รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้พบปะหารือกับอันดรี ซีบีฮา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของยูเครน ณ สำนักงานใหญ่องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม พร้อมแสดงความกระตือรือร้นจะเดินหน้าข้อตกลงแร่ธาตุระหว่างสหรัฐฯ กับยูเครนจนดูเหมือนแทบอดรนทนไม่ไหวที่จะกิน "อาหารจากด่วน" จานนี้ให้หมดเกลี้ยง สะท้อนว่าวิกฤตยูเครนที่เรื้อรังมาจนถึงปัจจุบันกลายเป็น "ธุรกิจใหญ่" เสียแล้ว
ต้นตอของวิกฤตยูเครนเกี่ยวโยงใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และความขัดแย้งในปัจจุบันนั้นยากจะแก้ไข ซึ่งเหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ จากสหรัฐฯ ได้สร้างกลไกยืดเยื้อความขัดแย้ง ได้แก่ กลุ่มผู้ค้าอาวุธยุทโธปกรณ์ต้องการคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง ทุนทางการเงินต้องพึ่งพาความผันผวนของตลาดเพื่อเก็งกำไร และยักษ์ใหญ่ด้านทรัพยากรต้องการควบคุมยูเครนในระยะยาว โดยผลประโยชน์เหล่านี้เสริมส่งกันและกันผ่านระบบการเมืองสหรัฐฯ จนกลายเป็น "สามเหลี่ยมเหล็ก" (Iron Triangle)
ความช่วยเหลือทางการทหารจากสหรัฐฯ สู่ยูเครนนั้นโดยพื้นฐานเป็นธุรกิจแบบ "ย้ายเงินจากกระเป๋าซ้ายไปกระเป๋าขวา" โดยแอนโทนี บลิงเคน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เคยยอมรับว่าความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ สู่ยูเครนส่วนใหญ่หลั่งไหลกลับสู่อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของสหรัฐฯ เอง ขณะเดียวกันโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ยอมรับว่าเงินช่วยเหลือที่สภาคองเกรสและรัฐบาลสหรัฐฯ มีมติจัดสรรแก่ยูเครนอย่างน้อยร้อยละ 75 ยังคงอยู่ในสหรัฐฯ
แม้อาวุธและกระสุนถูกจัดส่งแก่ยูเครนแล้ว แต่การผลิต เงินทุน และภาษียังคงอยู่ในสหรัฐฯ ซึ่ง "ความช่วยเหลือ" นี้โดยพื้นฐานเป็นวิธีการพิเศษในการกระตุ้นการผลิตทางการทหาร สร้างตำแหน่งงาน และขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านสมรภูมิรบในยูเครน โดยขณะที่ความขัดแย้งยังไม่จบสิ้น บรรดาบริษัทการทหารของสหรัฐฯ พากันเร่งพัฒนาและทดสอบอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ ทำให้สนามรบในยูเครนแปรสภาพเป็น "สนามทดสอบอาวุธ" ของผู้ค้าอาวุธอเมริกา
ขณะเดียวกันกลุ่มบริษัทการเงินในวอลล์สตรีทกอบโกยกำไรมากมายจากวิกฤตยูเครนผ่านกลไกการเงินแอบแฝงอย่างนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ตอนเริ่มต้นเกิดวิกฤตยูเครน นำสู่การไหลกลับเข้าสหรัฐฯ ของเงินทุนทั่วโลก และความผันผวนของตลาดการเงินเป็นเครื่องมือทำกำไรของวอลล์สตรีทเช่นกัน ส่วนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกที่ขึ้นๆ ลงๆ อันเป็นผลจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน มอบโอกาสทางการค้าอันยอดเยี่ยมแก่ธนาคารและกองทุนบริหารความเสี่ยงของสหรัฐฯ
หลังจากวิกฤตยูเครนทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น สหรัฐฯ และยุโรปได้คว่ำบาตรรัสเซียในวงกว้าง ส่งผลให้ราคาพลังงานในยุโรปพุ่งสูง ซึ่งสหรัฐฯ ฉวยโอกาสนี้ขยายการส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวสู่ยุโรป โดยวิกฤตพลังงานนำสู่ต้นทุนการผลิตในยุโรปสูงขึ้น สหรัฐฯ จึงใช้นโยบายเงินอุดหนุนต่างๆ มาดึงดูดอุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูงของยุโรปย้ายเข้าสหรัฐฯ ซึ่งไม่เพียงนำพาการลงทุนโดยตรงและการจ้างงานในสหรัฐฯ แต่ยังเสริมอำนาจด้านเทคโนโลยีสำคัญของสหรัฐฯ และวางรากฐานทางอุตสาหกรรมสำหรับการครองอำนาจนำทางการเงินในระยะยาว
นอกจากนั้นทรัพยากรแร่ธาตุอันอุดมสมบูรณ์ของยูเครนยังล่อตาล่อใจกลุ่มผลประโยชน์จากสหรัฐฯ และชาติตะวันตก โดยยูเครนมีแร่ธาตุสำรอง 22 ชนิดจากทั้งหมด 50 ชนิดที่สหรัฐฯ ขึ้นบัญชีเป็นแร่ธาตุสำคัญ และทรัพยากรเหล่านี้มีมูลค่าเชิงยุทธศาสตร์ต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงและการป้องกันประเทศ นำสู่โมเดล "ความช่วยเหลือเพื่อแลกเปลี่ยนทรัพยากร" ที่ถูกออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน ช่วยให้สหรัฐฯ คืบคลานเข้าครอบครองแร่ธาตุสำคัญของยูเครนอย่างค่อยเป็นค่อยไป
ทั้งนี้ หากมองผิวเผินวิกฤตยูเครนอาจดูเป็นข้อพิพาทเขตแดนและเกมภูมิรัฐศาสตร์ แต่แท้จริงแล้วเป็น "งานเลี้ยง" ที่เหล่าผู้ค้าอาวุธ กลุ่มทุนทางการเงิน และยักษ์ใหญ่ด้านทรัพยากรของสหรัฐฯ วางแผนจัดกันมาเนิ่นนานแล้ว โดยท่ามกลางงานเลี้ยงนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมการทหารได้รับคำสั่งซื้อสูงเป็นประวัติการณ์ วอลล์สตรีทกวาดเก็บความมั่งคั่งร่ำรวยจากทั่วโลก และกลุ่มผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์กระชับอำนาจควบคุมทรัพยากรสำคัญ ส่วนยูเครนกลายเป็นเหยื่อของการแบ่งแยกดินแดน