(แฟ้มภาพซินหัว : ดวงดาวและทางช้างเผือกบนท้องฟ้ายามค่ำคืน วันที่ 25 มี.ค. 2023)
ซิดนีย์, 4 เม.ย. (ซินหัว) -- การศึกษาใหม่ของออสเตรเลียที่เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ เมื่อวันพุธ (2 เม.ย.) เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ เกี่ยวกับวิวัฒนาการของดวงดาวด้วยการวิเคราะห์ "เสียง" ของดวงดาวในกระจุกดาวที่อยู่ห่างออกไป 2,700 ปีแสง ซึ่งมอบเทคนิคใหม่แก่บรรดานักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ในการจัดทำแผนที่ประวัติศาสตร์และอนาคตของทางช้างเผือกและกาแล็กซีอื่นๆ
นักวิจัยพัฒนาวิธีการกำหนดอายุและมวลของดาวฤกษ์อย่างแม่นยำผ่านการศึกษาการเปลี่ยนช่วงคลื่นเสียง (Oscillation Frequency) ของดาวเหล่านี้ โดยใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศภารกิจเคปเลอร์ เค2 (Kepler K2)
เดนนิส สเตลโล ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ระบุว่าดาวฤกษ์จะ "ส่งเสียง" ที่ย่านความถี่เฉพาะเช่นเดียวกับเครื่องดนตรี ขึ้นอยู่กับโครงสร้างภายในของมัน และเป็นครั้งแรกที่เราศึกษาลำดับวิวัฒนาการที่กินเวลานานมากเช่นนี้
ดาวขนาดใหญ่ที่สุดจะมีเสียงทุ้มที่สุด ส่วนดาวขนาดเล็กจะมีเสียงแหลมสูง และไม่มีดาวดวงใดที่เล่นโน้ตเดียวพร้อมกันได้ กระบวนการนี้เปรียบเสมือนการฟังวงออเคสตราและระบุเครื่องดนตรีโดยฟังจากเสียงของเครื่องดนตรีชนิดนั้นๆ
การศึกษาครั้งนี้ได้ตรวจสอบดาวฤกษ์จำนวน 27 ดวง จากกระจุกดาวเอ็ม67 (M67) ที่ก่อตัวขึ้นเมื่อ 4,000 ล้านปีก่อน แม้ว่ากระจุกดาวเอ็ม67 จะมีองค์ประกอบทางเคมีคล้ายคลึงกัน แต่มวลที่มีความหลากหลายทำให้เหมาะต่อการศึกษาวิวัฒนาการแบบเรียลไทม์
นักวิจัยกล่าวว่าเนื่องจากกระจุกดาวเอ็ม67 มีความคล้ายคลึงกับดวงอาทิตย์ การวิจัยครั้งนี้จึงให้ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญเกี่ยวกับอดีตของดวงอาทิตย์และการเปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นดาวฤกษ์ยักษ์แดงในขั้นสุดท้าย การค้นพบเหล่านี้เป็นสิ่งที่คาดไม่ถึงและชี้ให้เห็นถึงแนวทางใหม่ในการวิเคราะห์ข้อมูลดาราศาสตร์ที่มีอยู่