(แฟ้มภาพซินหัว : ต้นอัลมอนด์ในเมืองโมดิอินทางตอนกลางของอิสราเอล วันที่ 11 ก.พ. 2021)
เยรูซาเล็ม, 1 เม.ย. (ซินหัว) -- เมื่อวันจันทร์ (31 มี.ค.) มหาวิทยาลัยบาร์-อิลานเผยว่าคณะนักวิจัยของอิสราเอลได้พัฒนาโมเดลปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อคาดการณ์เหตุไฟป่าที่เกิดจากฟ้าผ่า ซึ่งมีความแม่นยำกว่าร้อยละ 90 และจะเป็นเครื่องมือใหม่ที่นำมาใช้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การศึกษาดังกล่าว ซึ่งเผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ คอมมูนิเคชันส์ (Nature Communications) อาจช่วยให้บริการด้านอุตุนิยมวิทยา หน่วยดับเพลิง และผู้วางแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน สามารถตอบสนองได้อย่างเร็วขึ้นและชาญฉลาดยิ่งขึ้น รวมทั้งอาจช่วยชีวิตผู้คนและระบบนิเวศได้
แม้กิจกรรมของมนุษย์จะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดไฟป่า แต่ฟ้าผ่ากลับเป็นต้นตอของไฟป่าที่รุนแรงและคาดเดาได้ยากที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่มีทรัพยากรดับไฟอยู่จำกัด ไฟเหล่านี้สามารถคุกรุ่นอยู่ใต้ดินได้นานหลายวันก่อนจะปะทุขึ้น ทำให้เป็นอันตรายอย่างมาก ขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง เนื่องจากพายุฟ้าผ่าเกิดบ่อยขึ้น กอปรกับสภาพอากาศร้อนจัดและแห้งแล้งซึ่งเอื้อต่อการเกิดไฟป่า
โมเดลปัญญาประดิษฐ์รุ่นใหม่นี้ผ่านการฝึกด้านข้อมูลดาวเทียมความละเอียดสูงทั่วโลกเป็นเวลานานถึง 7 ปี จะประเมินความเสี่ยงของไฟป่าโดยวิเคราะห์ปัจจัยหลายด้าน อาทิ การเกิดฟ้าผ่า ความหนาแน่นของพืชพรรณ รูปแบบของสภาพอากาศ และลักษณะภูมิประเทศ
หนึ่งในข้อค้นพบสำคัญ ได้แก่ ไฟป่าที่เกิดจากฟ้าผ่ามีลักษณะแตกต่างจากไฟป่าที่มีต้นตอจากมนุษย์อย่างชัดเจน ซึ่งเน้นย้ำความจำเป็นในการใช้แนวทางเฉพาะที่เหมาะสมกับไฟแต่ละประเภท
นอกจากนี้ การศึกษาเผยว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นตัวเร่งความเสี่ยงการเกิดไฟป่าที่เกิดจากฟ้าผ่า โดยโมเดลคาดการณ์ว่าความเสี่ยงของไฟป่าจากฟ้าผ่านั้นกำลังเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากฟ้าผ่าและสภาพอากาศที่เอื้อต่อการเกิดไฟป่ามีแนวโน้มเกิดบ่อยขึ้น
โมเดลข้างต้นใช้ประโยชน์จากคลังข้อมูลขนาดใหญ่และปัญญาประดิษฐ์ ถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในการคาดการณ์ไฟป่า ช่วยเสริมสร้างความสามารถการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก และการเตรียมความพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉิน