(แฟ้มภาพซินหัว : ยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมเสินโจว-19 ถูกปล่อยสู่ห้วงอวกาศโดยจรวดขนส่งลองมาร์ช-2F จากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเฉวียนทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 30 ต.ค. 2024)
หนานจิง, 18 มี.ค. (ซินหัว) -- ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเหมืองแร่และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน พัฒนาหุ่นยนต์ขุดแร่ในอวกาศแบบหกขาที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการเคลื่อนที่ของแมลง กลไกการปีนของนกหัวขวาน และเทคนิคการพับกระดาษโอริกามิ ซึ่งอาจถูกนำมาใช้สำรวจและขุดทรัพยากรแร่บนดวงจันทร์หรือดาวเคราะห์น้อยในอนาคต
หลิวซินหัว ผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยฯ กล่าวว่าหุ่นยนต์ตัวนี้มีโครงสร้างกรงเล็บและหนามแบบเรียงตัว ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการยึดเกาะและจับพื้นผิวในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ เนื่องจากดวงจันทร์มีแรงโน้มถ่วงเพียง 1 ใน 6 ของโลก ขณะที่ดาวเคราะห์น้อยดวงอื่นๆ มีแรงโน้มถ่วงต่ำ ทำให้ขั้นตอนการขุดทรัพยากรแร่นั้นแตกต่างจากบนพื้นโลกและมีความท้าทาย
หุ่นยนต์ตัวนี้ติดตั้งขาสามล้อและขาแบบกรงเล็บสามขา สามารถเคลื่อนที่บนพื้นผิวดาวเคราะห์น้อยที่ค่อนข้างเรียบ ส่วนโครงสร้างตัวยึดช่วยให้สามารถเคลื่อนที่บนพื้นที่ที่เป็นหินและดินร่วนได้
ล้อของหุ่นยนต์ทำจากโลหะจำรูปผสมนิกเกิล-ไทเทเนียม ทำให้สามารถคืนรูปได้อย่างรวดเร็วหลังเจอแรงกดจากภายนอก และคาดว่าการออกแบบนี้จะสามารถทนความผันผวนของอุณหภูมิที่รุนแรงและรังสีในอวกาศอย่างมีประสิทธิภาพ
ทีมวิจัยสร้างสถานที่ทดสอบเฉพาะซึ่งจำลองสภาพดินทรายของดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก และใช้ระบบกันสะเทือนเพื่อเลียนแบบสภาวะที่มีแรงโน้มถ่วงต่ำ โดยมีการยื่นขอจดสิทธิบัตรสำหรับต้นแบบของหุ่นยนต์ขุดแร่ในอวกาศตัวนี้แล้ว
จีนวางแผนส่งยานสำรวจฉางเอ๋อ-7 (Chang'e-7) สู่ห้วงอวกาศราวปี 2026 เพื่อสำรวจขั้วใต้ของดวงจันทร์ ขณะที่ฉางเอ๋อ-8 (Chang'e-8) ซึ่งมีกำหนดปล่อยในปี 2028 จะทดลองใช้ทรัพยากรบนดวงจันทร์ ซึ่งยานทั้งสองลำนี้จะร่วมกันสร้างต้นแบบสถานีวิจัยบนดวงจันทร์ในระดับนานาชาติภายในปี 2035