(ภาพจากองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน : ยานโคจรของจีน และดาวอังคาร เผยแพร่วันที่ 1 ม.ค. 2022)
แคนเบอร์รา, 22 ม.ค. (ซินหัว) -- นักวิทยาศาสตร์จากออสเตรเลียและจีนสร้างความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการไขปริศนาว่าภูมิทัศน์ของดาวอังคารมีวิวัฒนาการอย่างไรตลอดระยะเวลาหลายพันล้านปี
ในงานวิจัยที่เผยแพร่ในวันพุธ (22 ม.ค.) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย และสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ได้วิเคราะห์การเกิดแผ่นดินไหวบนดาวอังคารหรือที่เรียกว่ามาร์สเควก (marsquakes) โดยสามารถระบุกลุ่มการเกิดมาร์สเควกจำนวน 6 ครั้งในพื้นที่ที่ราบสูงทางตอนใต้ของดาวอังคาร ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ราวสองในสามของพื้นผิวดาวอังคาร
ทีมนักวิจัยระบุว่ามาร์สเควกเหล่านี้บ่งชี้ถึงความแตกต่างในภูมิประเทศระหว่างพื้นที่ทางตอนใต้และตอนเหนือของดาวอังคาร ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่าความไม่สมมาตรของดาวอังคาร (Mars dichotomy) ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าเกิดจากการถ่ายเทความร้อนภายในชั้นด้านในของดาวอังคาร
เฮอร์โวเย ตคาลชิช หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เปิดเผยว่าเมื่อนำข้อมูลจากมาร์สเควกเหล่านี้มาเปรียบเทียบกับข้อมูลมาร์สเควกที่เคยบันทึกไว้อย่างละเอียดในซีกโลกเหนือ พบว่าซีกโลกใต้ของดาวอังคารมีอุณหภูมิที่สูงกว่าซีกโลกเหนืออย่างมีนัยสำคัญ
ตคาลชิชระบุว่าการทำความเข้าใจว่ามีการพาความร้อนเกิดขึ้นหรือไม่ ช่วยให้เข้าใจว่าดาวอังคารวิวัฒนาการจนมีสภาพดังเช่นในปัจจุบันได้อย่างไรตลอดเวลาหลายพันล้านปีที่ผ่านมา โดยมีสองสมมติฐานที่อาจอธิบายได้ว่าทำไมซีกโลกใต้ของดาวอังคารจึงมีเปลือกที่หนากว่า และมีระดับความสูงมากกว่าซีกโลกเหนือราว 5-6 กิโลเมตร
สมมติฐานแรกคือกระบวนการเปลี่ยนแปลงจากแรงภายในดวงดาว ซึ่งระบุว่าการถ่ายเทความร้อนภายในชั้นในของดาวอังคารเมื่อหลายพันล้านปีก่อนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความแตกต่างนี้ ส่วนสมมติฐานที่สองคือกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากภายนอกดาว โดยเชื่อว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอวกาศเป็นตัวกำหนดความแตกต่างข้างต้น
ตคาลชิชเผยว่าการค้นพบครั้งใหม่นี้เป็นหลักฐานเชิงสังเกตการณ์ครั้งแรกที่สนับสนุนทฤษฎีกระบวนการเปลี่ยนแปลงจากแรงภายในดวงดาว
ซุนเหว่ยเจีย จากสถาบันฯ ระบุว่าความแตกต่างของลักษณะภูมิประเทศระหว่างพื้นที่ทางตอนใต้และตอนเหนือของดาวอังคารนั้นเทียบเท่ากับความสูงของเทือกเขาที่สูงที่สุดบนโลก
อนึ่ง ทีมวิจัยได้ใช้ข้อมูลที่เก็บรวบรวมโดยเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวของยานสำรวจอินไซต์ (InSight) ขององค์การนาซา (NASA) บนดาวอังคาร