(แฟ้มภาพซินหัว : คนงานและอาสาสมัครจัดเตรียมกล่องอาหารฟรีที่ธนาคารอาหารของอียิปต์ในกรุงไคโร เมืองหลวงของอียิปต์ วันที่ 2 มี.ค. 2024)
สหประชาชาติ, 18 ต.ค. (ซินหัว) -- รายงานจากสหประชาชาติ (UN) เผยว่าโลกประสบกับภาวะความยากจนขั้นรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ขณะที่ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและยังคงอยู่ในระดับสูง โดยหลายเหตุการณ์รุนแรงฉับพลันที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน เริ่มตั้งแต่การระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ส่งผลให้มาตรการความก้าวหน้าด้านการพัฒนาสังคมที่สำคัญถอยย้อนกลับ
แม้จะมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมหภาค ทว่าภาวะความยากจนขั้นรุนแรงในกลุ่มประเทศที่อยู่ในสถานการณ์พิเศษนั้นยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึก โดยรายงานเวิลด์ โซเชียล รีพอร์ต ปี 2024 หัวข้อ "การพัฒนาทางสังคมยามห้วงวิกฤตวนมาบรรจบ : การเรียกร้องเพื่อปฏิบัติการระดับโลก" ที่เผยแพร่โดยสำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่าเมื่อนับถึงปี 2022 ภาวะความยากจนขั้นรุนแรงได้กลับสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่ในหลายประเทศ ยกเว้นกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ
อัตราการว่างงานในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราช่องว่างการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20 ในปี 2018 เป็นร้อยละ 21 ในปี 2023 ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่งคั่งที่มีอยู่แล้วทั่วโลกย่ำแย่ลงอีก
ในปี 2022 กลุ่มคนที่จนที่สุดครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมดครอบครองทรัพย์สินเพียงร้อยละ 2 ของความมั่งคั่งทั่วโลก ขณะที่กลุ่มประชากรที่รวยที่สุดร้อยละ 10 ของโลก ถือครองทรัพย์สินถึงร้อยละ 76
รายงานระบุว่าวิกฤตการณ์ต่างๆ อาจส่งผลให้เกิดการสูญเสียผลผลิตทางเศรษฐกิจกว่า 50 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.66 พันล้านล้านบาท) ระหว่างปี 2020-2030 ซึ่งสะท้อนถึงการสูญเสียโอกาสการลงทุนในด้านการพัฒนาทางสังคม
รายงานเผยว่าปัจจุบันนานาประเทศกำลังฟื้นตัวจากหลายวิกฤตรุมเร้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงยังคงมีโอกาสในการลดผลกระทบระยะยาวที่วิกฤตเหล่านี้มีต่อการพัฒนาสังคม และสร้างสังคมที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
นอกจากนั้น เหตุการณ์รุนแรงฉับพลันอาจขยายวงจนเกิดขึ้นข้ามพรมแดนท่ามกลางสภาพแวดล้อมนโยบายโลกปัจจุบัน จึงควรมีการปฏิบัติการในระดับโลกอย่างเร่งด่วนเพื่อสนับสนุนความพยายามระดับชาติในการจัดการผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตทั่วโลกเมื่อไม่นานนี้ และป้องกันเหตุรุนแรงในอนาคตแปรเปลี่ยนจนกลายเป็นวิกฤตการณ์
รายงานเน้นย้ำความจำเป็นที่สำคัญสำหรับการปฏิรูปและการปรับจุดมุ่งเน้นด้านการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการรับมือวิกฤตการณ์โลกในระดับประเทศ และสร้างพื้นที่การคลังที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางสังคม
รายงานยังทดสอบมาตรการต่างๆ เพื่อผ่อนปรนภาระหนี้สินของกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา และสำรวจว่าความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาในรูปแบบของเงินช่วยเหลือและเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน การบรรเทาหนี้สินในระยะสั้น และการเสริมสร้างโครงสร้างหนี้ของรัฐในระยะยาว จะสามารถยกระดับการพัฒนาสังคมได้อย่างไร
หลี่จวินหัว ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่ารายงานฉบับนี้ช่วยเพิ่มความเข้าใจถึงบทบาทสำคัญของปฏิบัติการแบบพหุภาคีในการสนับสนุนความพยายามระดับชาติ เพื่อค้นหาพื้นที่การคลังสำหรับต่อสู้กับความยากจน สร้างงาน และรับรองว่าทุกคนมีโอกาสที่เท่าเทียมในชีวิต
อนึ่ง รายงานเวิลด์ โซเชียล รีพอร์ตเป็นสิ่งพิมพ์ฉบับสำคัญของสำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยประเด็นการพัฒนาทางสังคมที่สำคัญ ซึ่งระบุถึงแนวโน้มสังคมในปัจจุบันและที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ และจัดทำการวิเคราะห์เกี่ยวกับประเด็นการพัฒนาที่สำคัญทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ
(แฟ้มภาพซินหัว : เกษตรกรทำงานที่ฟาร์มในเมืองออมดัวร์มานของซูดาน วันที่ 26 ส.ค. 2024)