(แฟ้มภาพซินหัว : ยานยนต์ รุ่นอะวาธาร์ 11 ของบริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน ในกรุงเทพฯ วันที่ 17 ก.ย. 2024)
กรุงเทพฯ, 8 ก.พ. (ซินหัว) -- นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวของจีนว่าการลงทุนจากจีนมีบทบาทสำคัญในการปรับโครงสร้างภูมิทัศน์ทางอุตสาหกรรมของไทย ซึ่งขับเคลื่อนการเติบโตในภาคส่วนสำคัญที่สอดคล้องกับเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ระดับชาติ
นฤตม์เน้นย้ำถึงบทบาทของจีนในฐานะนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ในหลายอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ศูนย์ข้อมูลดิจิทัล และโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมยานยนต์
นฤตม์กล่าวว่าสภาพแวดล้อมการลงทุนที่เอื้ออำนวยและตำแหน่งที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ของไทยภายในอาเซียน ทำให้ไทยเป็นประตูสู่การลงทุนที่น่าสนใจสำหรับบริษัทต่างๆ ที่กำลังมองหาการขยายธุรกิจในภูมิภาค โดยไทยถือเป็นจุดหมายที่มั่นคงและเป็นมิตรต่อการลงทุน และเป็นฐานยุทธศาสตร์สำหรับบริษัทจีนซึ่งต้องการรุกคืบสู่ตลาดอาเซียน
ปี 2025 ตรงกับวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน ซึ่งนฤตม์มองว่าการกระชับความสัมพันธ์ด้านการลงทุนผ่านแผนริเริ่มร่วมกันและกิจกรรมส่งเสริมการตลาดนั้นจะเป็นไปในทิศทางที่ดี
ขณะที่บริษัทจีนนำเอาเทคโนโลยีขั้นสูงเข้าสู่ไทย สำนักงานฯ ยังได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้เพิ่มการใช้วัสดุและส่วนประกอบจากท้องถิ่นของไทย รวมถึงส่งเสริมกิจการร่วมค้าระหว่างธุรกิจของไทยและจีนเพื่อใช้ประโยชน์จากบุคลากรท้องถิ่นที่มีความรู้ความสามารถ
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ยังคงเป็นภาคส่วนสำคัญของไทย ครอง 1 ใน 3 สินค้าส่งออกหลักของประเทศ และมีการจ้างงานประชาชนเกือบ 1 ล้านคนทั่วห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งรัฐบาลตระหนักดีถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ จึงตั้งเป้าจะวางตำแหน่งไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ทั่วทุกภาคส่วน อาทิ ยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ยานยนต์ไฮบริด ยานยนต์ปลั๊กอินไฮบริด และยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่
นฤตม์ชี้ว่าตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ไทยเปลี่ยนผ่านจากผู้นำเข้ายานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นผู้ผลิตได้สำเร็จ ซึ่งมีปัจจัยจากการลงทุนจากจีนและมาตรการสนับสนุนของรัฐบาลไทย โดยนโยบายของรัฐบาลเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ผลิตยานยนต์จัดตั้งฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในไทย พร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานแบบครอบคลุม ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมสถานีชาร์จ การอำนวยความสะดวกด้านการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า และการสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่
อนึ่ง ภายใต้การสนับสนุนการลงทุนของรัฐบาลไทย ไทยตั้งเป้าจะเปลี่ยนผลผลิตยานยนต์ร้อยละ 30 ต่อปีให้เป็นยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในปี 2030 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
(แฟ้มภาพซินหัว : คนงานทำงานที่สายการผลิตของบริษัท ดุ้นอัน เมทอลส์ (ประเทศไทย) ในเขตอุตสาหกรรมระยอง ไทย-จีน จังหวัดระยอง วันที่ 8 พ.ย. 2022)