เซี่ยงไฮ้, 3 ม.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันพฤหัสบดี (2 ม.ค.) นิวโรเซสส์ (NeuroXess) สตาร์ตอัปของจีนที่มีฐานอยู่ในนครเซี่ยงไฮ้ รายงานว่าการทดลองทางคลินิกของอุปกรณ์ส่วนต่อประสานสมอง-คอมพิวเตอร์ (BCI) ที่มีความยืดหยุ่นของบริษัทนั้นมีความคืบหน้าสำคัญ 2 ประการ โดยสามารถถอดรหัสการเคลื่อนไหวตามที่มุ่งหมายของผู้ป่วยรายหนึ่งที่มีอาการบาดเจ็บที่สมองได้แม่นยำแบบเรียลไทม์ และถอดรหัสคำพูดภาษาจีนในผู้ป่วยอีกรายได้ทันทีเช่นกัน
รายงานระบุว่าผู้ป่วยแสดงให้เห็นถึงความสามารถของเทคโนโลยีส่วนต่อประสานดังกล่าว โดยใช้ความคิดในการควบคุมซอฟต์แวร์ หยิบสิ่งของ ใช้งานอวตารดิจิทัลผ่านคำพูด และสนทนากับโมเดลปัญญาประดิษฐ์ (AI)
ในเดือนสิงหาคม 2024 ศัลยแพทย์ระบบประสาทของโรงพยาบาลฮว่าซานแห่งมหาวิทยาลัยฟู่ตั้นได้ปลูกถ่ายอุปกรณ์ส่วนต่อประสานดังกล่าวแบบยืดหยุ่นที่มีช่องสัญญาณ 256 ช่องและรองรับปริมาณการรับส่งข้อมูลสูง ซึ่งออกแบบโดยนิวโรเซสส์ ให้กับผู้ป่วยหญิงวัย 21 ปีที่เป็นโรคลมชัก (epilepsy) และมีรอยโรคที่กินพื้นที่ในบริเวณสมองส่วนสั่งการการเคลื่อนไหว
รายงานระบุว่าทีมของบริษัทฯ ได้สกัดเอาคุณลักษณะของคลื่นไฟฟ้าสมอง (ECoG) จากคลื่นสมองแกมมาย่านความถี่สูงของสัญญาณสมองผู้ป่วย และฝึกโมเดลเครือข่ายประสาทให้ถอดรหัสแบบเรียลไทม์ ส่งผลให้ระบบมีความล่าช้าน้อยกว่า 60 มิลลิวินาที และระบุพื้นที่การทำงานของสมองได้อย่างแม่นยำภายในไม่กี่นาทีหลังการผ่าตัด
คลื่นสมองแกมมาย่านความถี่สูง (70-150 เฮิรตซ์) มีแนวโน้มที่จะสัมพันธ์กับการรับรู้ที่ซับซ้อนและความสอดคล้องของระบบประสาท ซึ่งให้ข้อมูลกิจกรรมของสมองโดยละเอียด โดยเฉพาะข้อมูลการเคลื่อนไหวและการรับรู้ทางประสาทสัมผัส
เถาหู่ ผู้ก่อตั้งและหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของบริษัทฯ เปิดเผยว่าการสกัดย่านสัญญาณเหล่านี้จะช่วยให้ถอดรหัสเจตนาของสมองได้แม่นยำยิ่งขึ้นในการทดลองอุปกรณ์ส่วนต่อประสานแบบฝัง โดยภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถเล่นปิงปองและเล่นเกมงูในคอมพิวเตอร์ผ่านการควบคุมของสมองได้สำเร็จ โดยไม่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายใดๆ
หลังจากผ่านการฝึกอบรมเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยสามารถใช้เซสส์โอเอส (XessOS) ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์สมองของบริษัทฯ ได้อย่างคล่องแคล่วในการใช้งานแอปสมาร์ตโฟนทั่วไป อาทิ วีแชท (WeChat) และเถาเป่า (Taobao) พร้อมควบคุมระบบบ้านอัจฉริยะและวีลแชร์ผ่านการควบคุมสมอง ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยได้เป็นอย่างมาก
ถอดรหัสคำพูดภาษาจีน
ภาษาเป็นฟังก์ชันการรับรู้ขั้นสูงที่ซับซ้อนที่สุดของมนุษยชาติ และการถอดรหัสคำพูดจากสัญญาณของสมองถือเป็นด่านที่น่าตื่นเต้นในการพัฒนาเทคโนโลยีส่วนต่อประสานสมอง-คอมพิวเตอร์
เถาระบุว่าภาษาจีนจัดเป็นภาษาวรรณยุกต์ (tonal language) ที่มีระดับเสียงสูงต่ำประจำคำที่ทำให้คำมีความหมายต่างกัน อีกทั้งมีคำพยางค์เดียวและเป็นอักษรคำ ซึ่งแตกต่างจากภาษาที่มีตัวอักษรอย่างภาษาอังกฤษ ทำให้การประมวลผลใช้พื้นที่สมองมากขึ้นและต้องใช้กลไกและวิธีการทางประสาทเฉพาะทาง
ในเดือนธันวาคม 2024 ทีมผู้เชี่ยวชาญได้ดำเนินการทดลองทางคลินิกครั้งแรกเกี่ยวกับส่วนต่อประสานข้างต้นเพื่อสังเคราะห์คำพูดภาษาจีน โดยทีมได้ฝังอุปกรณ์ส่วนต่อประสาน 256 ช่องสัญญาณให้กับผู้ป่วยหญิงโรคลมชักที่มีเนื้องอกในบริเวณสมองที่ควบคุมความเข้าใจภาษา ซึ่งผู้ป่วยฟื้นตัวได้ดีและสามารถถอดรหัสคำพูดได้แม่นยำถึงร้อยละ 71 ในการใช้พยางค์ภาษาจีนทั่วไป 142 พยางค์ภายใน 5 วัน ด้วยค่าความหน่วงในการถอดรหัสตัวอักษรเดียวต่ำกว่า 100 มิลลิวินาที
บริษัทฯ เผยแพร่คลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นว่าสมองของผู้ป่วยสามารถควบคุมมือหุ่นยนต์โดยตรงเพื่อหยิบแอปเปิลและลูกแพร์ ทั้งยังสามารถแสดงภาษามือเพื่อบอกว่า "สวัสดีปีใหม่ 2025" และอุปกรณ์นี้ยังทำให้ผู้ป่วยสามารถสั่งการอวตารดิจิทัลเพื่อพูดว่า "สวัสดี" และโต้ตอบกับโมเดลปัญญาประดิษฐ์ได้
อนึ่ง ส่วนต่อประสานสมอง-คอมพิวเตอร์ เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่กำลังมีบทบาทโดดเด่นในนวัตกรรมระดับโลก โดยบรรดานักวิทยาศาสตร์และวิศวกรต่างกระตือรือร้นที่จะบูรณาการเทคโนโลยีล้ำสมัยนี้เข้ากับสาขาการแพทย์เพื่อก้าวสู่ยุคใหม่แห่งความเป็นไปได้ในการบำบัดรักษา
เมื่อปี 2024 อีลอน มัสก์ประกาศว่านิวรัลลิงก์ (Neuralink) บริษัทสตาร์ตอัปของเขา ได้ฝังอุปกรณ์ชนิดดังกล่าวในมนุษย์และผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้ดี ทว่าเถาระบุว่ากลยุทธ์ของนิวรัลลิงก์จำเป็นต้องฝังอุปกรณ์ในเปลือกสมอง ซึ่งอาจทำให้เนื้อเยื่อสมองเสียหาย ทว่าแนวทางของนิวโรเซสส์สามารถหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นักวิทยาศาสตร์ของนิวโรเซสส์มีเป้าหมายที่จะใช้อุปกรณ์ส่วนต่อประสานนี้ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของบุคคลที่มีความบกพร่องทางการพูดหรือการเคลื่อนไหวอันเป็นผลมาจากภาวะต่างๆ อาทิ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) อัมพาตครึ่งล่างระดับสูง และโรคหลอดเลือดสมอง