กว่างโจว, 27 ธ.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันพฤหัสบดี (26 ธ.ค.) บริษัทต่อเรือของจีนได้ส่งมอบเรือวิจัยทางวิทยาศาสตร์แบบครบวงจรลำแรกของจีน ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อสำรวจทะเลลึกทั่วโลก รวมถึงปฏิบัติการช่วงฤดูร้อนในภูมิภาคขั้วโลก และมาพร้อมความสามารถดำน้ำลึกแบบมีมนุษย์ควบคุมในพื้นที่น้ำแข็ง
บริษัท กว่างโจว ชิปยาร์ด อินเตอร์เนชันนัล จำกัด ในเครือไชน่า สเตท ชิปปิง คอร์เปอร์เรชัน (CSSC) ได้ส่งมอบเรือ "ทั่นสั่ว ซานฮ่าว" (Exploration No. 3) ซึ่งเป็นเรือสำรวจทางวิทยาศาสตร์และทางโบราณคดีในทะเลลึกอเนกประสงค์ ในเขตหนานซา เมืองกว่างโจว มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน
เรือลำนี้ถูกพัฒนาและสร้างขึ้นเอง มีความยาว 104 เมตร ระวางขับน้ำราว 10,000 ตัน ระยะทางเดินเรือไกล 15,000 ไมล์ทะเล ความจุลูกเรือ 80 คน ความสามารถตัดน้ำแข็งแบบสองทิศทางที่หัวเรือและท้ายเรือ จะช่วยให้จีนมีความสามารถดำน้ำลึกแบบมีมนุษย์ควบคุมเพื่อเข้าถึงพื้นที่มหาสมุทรทั้งหมดทั่วโลก เพิ่มสมรรถนะการดำเนินงานโบราณคดีในทะเลลึกของจีน
อนึ่ง โครงการเรือทั่นสั่ว ซานฮ่าว ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน บริษัทในเมืองซานย่าของมณฑลไห่หนาน และสถาบันวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมทะเลลึก สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน
จีนอนุมัติโครงการนี้ในเดือนธันวาคม 2022 นำสู่การทำงานร่วมกันของสถาบันต่างๆ มากกว่า 100 แห่ง เพื่อพัฒนาและสร้างเรือลำนี้ ซึ่งสามารถเอาชนะอุปสรรคทางเทคโนโลยีในด้านต่างๆ เช่น การออกแบบเรือสำหรับเขตน้ำแข็ง และเทคโนโลยีควบคุมเรืออัจฉริยะ
(แฟ้มภาพซินหัว : การทดลองเดินเรือทั่นสั่ว ซานฮ่าว วันที่ 26 ต.ค. 2024)
(แฟ้มภาพซินหัว : พิธีเปิดตัวเรือทั่นสั่ว ซานฮ่าว วันที่ 26 ธ.ค. 2024)