คุนหมิง, 9 ธ.ค. (ซินหัว) -- ศูนย์ช่วยเหลือและเพาะพันธุ์ช้างเอเชียในแคว้นปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เปิดเผยว่าลูกช้างเอเชียป่า เพศผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งรับการรักษาและพักฟื้นมานานกว่า 3 เดือน เริ่มฟื้นตัวแข็งแรงหลังถูกศูนย์ฯ ช่วยชีวิตเอาไว้ และสามารถกลับมาเดินปกติได้อีกครั้ง
ศูนย์ฯ ระบุว่าพบลูกช้างบาดเจ็บตัวนี้เมื่อเดือนสิงหาคมในหมู่บ้านต้าตู้กั่ง เมืองจิ่งหง ซึ่งหลังจากเฝ้าติดตามด้วยโดรนจึงพบว่าบริเวณด้านหลังขาขวาของลูกช้างมีรอยแผลเห็นได้ชัดเจน ซึ่งเป็นสาเหตุให้มันเดินกะโผลกกะเผลก
หวังปิน หัวหน้าศูนย์คุ้มครองและจัดการช้างเอเชียในแคว้นสิบสองปันนา กล่าวว่าเจ้าหน้าที่เร่งรุดไปจุดดังกล่าวและจัดเตรียมกลูโคสและนมผงให้กับลูกช้างในวันรุ่งขึ้น อีกทั้งได้ทำความสะอาดและรักษาบาดแผลบริเวณขาของมันก่อนจะย้ายเจ้าช้างตัวนี้ไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงเพื่อพักฟื้นตัว
"เราพยายามพาลูกช้างบาดเจ็บตัวนี้กลับเข้าฝูง แต่พอผ่านมาอีกวัน ช้างตัวอื่นกลับไม่ยอมรับมันกลับเข้าฝูง" หวังกล่าว พร้อมเสริมว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกช้างอาการแย่ลงจากการถูกทอดทิ้งไว้ในป่าเพียงลำพัง เจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจส่งลูกช้างไปยังศูนย์ช่วยเหลือสัตว์เพื่อดูแลและฟื้นฟูร่างกาย
เมื่อลูกช้างมาถึงศูนย์ช่วยเหลือฯ ครั้งแรก มันมีความสูงเพียง 90 เซนติเมตร และหนักประมาณ 100 กิโลกรัม แต่ปัจจุบันความสูงของเจ้าลูกช้างตัวนี้เพิ่มขึ้นเป็น 130 เซนติเมตรและหนักกว่า 300 กิโลกรัม
"นอกจากการตรวจติดตามสุขภาพและให้อาหารเป็นประจำทุกวันแล้ว เรายังพาลูกช้างไปฝึกใช้ชีวิตในป่าทุกวันเพื่อคงความสามารถการเอาตัวรอด" โม่ซืออวี่ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ช่วยเหลือฯ กล่าว
อนึ่ง ศูนย์ช่วยเหลือและเพาะพันธุ์ช้างเอเชีย เป็นฐานวิจัยเพียงแห่งเดียวของจีนที่เน้นมอบความช่วยเหลือ ดูแล และเพาะพันธุ์ช้างเอเชีย โดยศูนย์แห่งนี้ได้ช่วยเหลือและฟื้นฟูสุขภาพช้างเอเชียป่า ซึ่งจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองระดับหนึ่งหรือระดับสูงสุดของจีนสำเร็จแล้ว 25 ตัว นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2009