(แฟ้มภาพซินหัว : ซุนไคถิงตรวจดูการเจริญเติบโตของไก่ที่ฟาร์มเลี้ยงในเมืองอวี๋ซู่ มณฑลจี๋หลินทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 8 ส.ค. 2024)
(แฟ้มภาพซินหัว : ซุนไคถิงตรวจดูตัวบ่งชี้สภาพแวดล้อมของฟาร์มเลี้ยงไก่ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ห้องทำงานของฟาร์มเลี้ยงไก่ในเมืองอวี๋ซู่ มณฑลจี๋หลินทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 8 ส.ค. 2024)
ฉางชุน, 17 ต.ค. (ซินหัว) -- ชวนทำความรู้จัก "ซุนไคถิง" ผู้เชี่ยวชาญการเพาะเลี้ยงปศุสัตว์จากไทย ซึ่งปฏิบัติงานดูแลฟาร์มเลี้ยงไก่สมัยใหม่ในเมืองอวี๋ซู่ มณฑลจี๋หลินทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน โดยซุนถูกส่งตัวมาทำงานที่จีนในฐานะเจ้าหน้าที่เทคนิคการเพาะเลี้ยงปศุสัตว์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) และทำงานผ่านอุปสรรคความยากลำบากและความท้าทายอยู่ที่จีนมานานเกือบ 20 ปี มีส่วนร่วมก่อสร้างฟาร์มไก่ในมณฑลจี๋หลินมากกว่า 20 แห่ง และฝึกอบรมผู้จัดการฟาร์มไก่ที่มีทักษะมากกว่า 30 คน
เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งมีประสบการณ์เพาะเลี้ยงสัตว์ปีกในไทยมานานหลายปี เล็งเห็นว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนเป็นแหล่งอาหารสัตว์อันอุดมสมบูรณ์ จึงวางแผนขยับขยายธุรกิจที่นี่ในปี 2001 และจัดส่งซุนที่เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงปศุสัตว์มาเป็นเจ้าหน้าที่เทคนิค ทว่าสภาพอากาศหนาวเย็นและแห้งแล้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ทำให้ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเขตร้อนคนนี้เผชิญโจทย์ยากอยู่ไม่น้อย
ซุนกล่าวว่าปัญหาตอนเลี้ยงไก่ที่ไทยคืออากาศร้อนเกินไปก็ต้องหาทางลดอุณหภูมิ แต่ปัญหาตอนอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนคืออากาศหนาวเย็นเกินไป หนึ่งในงานสำคัญที่สุดจึงเป็นการสร้างความอบอุ่นแก่ฟาร์มเลี้ยงไก่ ซึ่งทีแรกเขาตระเวนไปตามหมู่บ้านต่างๆ ใช้ภาษามือถามไถ่เกษตรกรท้องถิ่นเพื่อเก็บข้อมูล พร้อมกับแบ่งปันความรู้ด้านเทคนิคการเลี้ยงและป้องกันโรคในไก่ของตัวเองแก่ชาวบ้านด้วย พอเวลาผ่านไปปีกว่า เขาก็กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงไก่ในสภาพอากาศหนาวเย็น
ต่อมาเครือเจริญโภคภัณฑ์วางแผนเปิดฐานเพาะเลี้ยงไก่เนื้อในมณฑลจี๋หลินในปี 2007 ซุนที่กลับไปอยู่ไทยและทราบข่าวคราวจึงสมัครมาเป็นที่ปรึกษาทางเทคนิคประจำโครงการฐานเพาะเลี้ยงไก่เนื้อแห่งดังกล่าว และเพียงพริบตาเดียวเขาก็ทำงานที่จีนมานาน 17 ปีแล้ว โดยซุนกินนอนร่วมกับคนงาน เดินทางไปมาระหว่างฟาร์มไก่แห่งต่างๆ และแต่ละปีช่วยเลี้ยงไก่เนื้อมากกว่า 100 ล้านตัว ทำให้เขาได้เห็นพัฒนาการของอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ในจีนและความร่วมมือทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องระหว่างจีนกับไทย
ปัจจุบันซุนสามารถติดตามอุณหภูมิ ความชื้น การระบายอากาศ และตัวชี้วัดสภาพแวดล้อมอื่นๆ ของฟาร์มไก่ รวมถึงการเจริญเติบโตของไก่ที่เลี้ยง ผ่านหน้าจอคอมพิเวตอร์ในห้องทำงานหรือผ่านแท็บเล็ตพกพาหากออกไปข้างนอก โดยซุนเผยว่าตอนนี้เรื่องอุณหภูมิไม่ได้เป็นปัญหาที่สร้างความกังวลมากอีกแล้ว หลังจากอุตสาหกรรมเลี้ยงปศุสัตว์ของจีนมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ซุนเล่าฟาร์มไก่ในจีนสมัยก่อนต้องนำเข้าเครื่องควบคุมอุณหภูมิและความชื้นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันจีนสามารถผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ได้เองและมีราคาถูกลงมากด้วย ซึ่งปรากฏการณ์นี้เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรไทยในการแก้ปัญหาระบายความร้อนในฟาร์มไก่ด้วยเช่นกัน ทำให้ทุกครั้งที่ซุนเดินทางกลับมาไทย มักมีผู้เพาะเลี้ยงไก่เข้ามาถามไถ่เขาเกี่ยวกับความก้าวหน้าของเครื่องไม้เครื่องมือการเลี้ยงไก่ในจีนเสมอ
อนึ่ง ปริมาณการค้าระหว่างจีนกับไทยในปี 2023 รวมอยู่ที่ 1.26 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.19 ล้านล้านบาท) โดยจีนครองส่วนแบ่งการส่งออกทางการเกษตรของไทยสูงถึงร้อยละ 42 ขณะกลุ่มบริษัทจีนดำเนินการลงทุนในไทยสูง4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.52 แสนล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 109 เมื่อเทียบปีต่อปี ด้านกลุ่มบริษัทไทยดำเนินการลงทุนในจีน 4.66 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.54 แสนล้านบาท) เมื่อนับถึงสิ้นปี 2022
ทุกวันนี้นอกจากดูแลฟาร์มไก่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ซุนยังตระเวนไปดูแลฐานเพาะเลี้ยงไก่ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ลงทุนและก่อสร้างในพื้นที่อื่นๆ ของจีนด้วย ทำให้เขามีโอกาสได้พบเห็นการพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของจีน ซึ่งซุนเล่าว่าเมื่อก่อนคนไทยส่วนมากมองว่าจีนล้าหลัง แต่วันนี้คนไทยได้เข้าใจจีนใหม่ผ่านโลกอินเทอร์เน็ต โดยการจ่ายเงินและชอปปิงออนไลน์กลายเป็นเรื่องธรรมดาของชาวจีน หรือใช้รถไฟความเร็วสูงเดินไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกสบาย
ซุนทิ้งท้ายว่าตลาดการบริโภคไก่ของจีนขยายใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงอยากจะทำงานที่จีนต่อไปจนกว่าจะเกษียณ และหวังว่าจะมีคนไทยมาทำงานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนเพิ่มขึ้น เพื่อร่วมสัมผัสประสบการณ์ฤดูหนาวอันเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่และชื่นชมการพัฒนาอันรวดเร็วของจีนไปด้วยกัน