แคนเบอร์รา, 12 มิ.ย. (ซินหัว) -- ฐานข้อมูล 3 มิติออนไลน์ใหม่ที่ชื่อว่า "ออซโบเนวิซ" (Ozboneviz) ซึ่งพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยฟลินเดอร์สของออสเตรเลียและพันธมิตร เปิดให้ทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลรายละเอียดสัตว์ป่าทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และไม่มีชีวิตแล้วของออสเตรเลียได้แล้ว ถือเป็นห้องสมุดข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ 3 มิติแบบเปิดขนาดใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย ประกอบด้วยโครงกระดูกรูปแบบดิจิทัลกว่า 1,600 ชิ้น ซึ่งรวมถึงจิงโจ้ ตุ่นปากเป็ด นกอีมู ไทลาซีนที่สูญพันธุ์ไปแล้ว แบนดิคูทตีนหมู และอื่นๆ
โครงการดังกล่าวใช้เทคโนโลยีการสแกนขั้นสูงและการถ่ายภาพแบบซีที เพื่อบันทึกรายละเอียดกายวิภาคของสัตว์สายพันธุ์เด่นจำนวน 189 ชนิด โดยแบบจำลองทั้งหมดถูกจัดเก็บไว้บนแพลตฟอร์มอร์โฟซอร์ส (MorphoSource) ซึ่งใช้ระบบจัดหมวดหมู่แบบพิพิธภัณฑ์ และเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถดาวน์โหลดได้สำหรับการใช้งานที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์
กระดูกส่วนใหญ่ในโครงการนี้ถูกแปลงเป็นดิจิทัลโดยใช้เครื่องสแกนด้วยแสง (structured light scanner) ขณะที่ตัวอย่างหายากหรือเปราะบาง เช่น หนูจิงโจ้ทะเลทราย ซึ่งเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว ถูกบันทึกภาพด้วยการถ่ายแบบซีทีความละเอียดสูง เพื่อเก็บข้อมูลโครงสร้างภายในอย่างละเอียด
นอกจากนี้ มีการสร้างเว็บไซต์สเก็ตช์แฟบ (Sketchfab) เพื่อนำเสนอข้อมูลกระดูกกว่า 500 ชิ้นพร้อมคำอธิบายประกอบการศึกษา โดยฐานข้อมูลดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนการวิจัย การศึกษา และความสนใจของสาธารณชนเกี่ยวกับสัตว์ป่าที่โดดเด่นและมักใกล้สูญพันธุ์ของออสเตรเลีย
เวรา ไวส์เบกเกอร์ รองศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฟลินเดอร์ส หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่าฐานข้อมูลใหม่นี้เป็นช่องทางที่จะพาเราเข้าไป "หลังตู้กระจก" ของพิพิธภัณฑ์ ชมตัวอย่างอย่างใกล้ชิด เพื่อเข้าใจลักษณะพิเศษของพวกมันได้ดียิ่งขึ้น พร้อมคาดว่าออซโบเนวิซจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการจัดแสดงประวัติศาสตร์ธรรมชาติในรูปแบบดิจิทัลระดับโลก
(แฟ้มภาพซินหัว : จิงโจ้ออกหากินในกรุงแคนเบอร์ราของออสเตรเลีย วันที่ 24 ต.ค. 2023)