เสิ่นหยาง, 10 มิ.ย. (ซินหัว) -- หอจดหมายเหตุมณฑลเหลียวหนิงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนเผยแพร่เอกสารประวัติศาสตร์มากกว่า 1,200 ฉบับ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการรุกรานของญี่ปุ่นในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันจันทร์ (9 มิ.ย.) ซึ่งตรงกับวันจดหมายเหตุสากล โดยเอกสารเหล่านี้เผยรายละเอียดใหม่เกี่ยวกับการรุกรานของญี่ปุ่นและการยึดครองจีนเมื่อกว่า 80 ปีก่อน
รายงานระบุว่าเอกสารเหล่านี้เป็นชุดจดหมายเหตุของบริษัททางรถไฟแมนจูเรียใต้ (South Manchuria Railways) ที่ก่อตั้งในปี 1906 และปิดกิจการในปี 1945 โดยบริษัทแห่งนี้ถูกมองว่าเป็นองค์กรอาณานิคมที่ให้เงินสนับสนุนความทะเยอทะยานทางทหารของญี่ปุ่นระหว่างสงครามประชาชนจีนต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่นในช่วงปี 1931-1945
เอกสารส่วนหนึ่งเป็นตารางเงินชดเชยครอบครัวทหารที่เสียชีวิตและบาดเจ็บในเหตุการณ์มุกเดนเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 1931 ซึ่งเป็นเหตุการณ์กองทัพญี่ปุ่นระเบิดทางรถไฟใกล้เมืองเสิ่นหยางแล้วกล่าวหากองทัพจีนเป็นผู้ก่อวินาศกรรมเพื่อใช้เป็นข้ออ้างโจมตี โดยญี่ปุ่นโจมตีค่ายทหารจีนใกล้เมืองเสิ่นหยางในคืนเดียวกัน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการรุกรานภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน
ขณะเอกสารอื่นๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์อย่างเหตุการณ์สะพานหลูโกวและเหตุการณ์สังหารหมู่หนานจิง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัททางรถไฟแมนจูเรียใต้มีบทบาทสำคัญในการรุกรานของญี่ปุ่นด้วยการรวบรวมข่าวกรอง สนับสนุนกองกำลังฝักใฝ่ญี่ปุ่น สนับสนุนเงินทำสงคราม มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางทหาร และเชิดชูการรุกรานให้ดูชอบธรรม
เจ้าหน้าที่หอจดหมายเหตุฯ กล่าวว่าบริษัททางรถไฟแมนจูเรียใต้ได้ควบคุมเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจของภูมิภาคจีนตะวันออกเฉียงเหนือ ปล้นสะดมทรัพยากรแร่ธาตุ และรวบรวมข้อมูลข่าวกรองต่างๆ ซึ่งเอกสารเหล่านี้เป็นหลักฐานการรุกรานจีนที่เขียนโดยผู้รุกรานชาวญี่ปุ่นเอง จีงมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างมาก
อนึ่ง ปี 2025 ตรงกับวาระครบรอบ 80 ปี ชัยชนะในสงครามประชาชนจีนต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น และสงครามต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ของโลก โดยเจ้าหน้าที่หอจดหมายเหตุฯ หวังว่าการเผยแพร่เอกสารเหล่านี้จะช่วยแผ่ขยายเรื่องราวการรุกรานของญี่ปุ่นและบอกเล่าความกล้าหาญของชาวจีนในยุคสงคราม
(แฟ้มภาพซินหัว : พิธีรำลึกเหตุการณ์ 18 ก.ย. ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ 9.18 ในเมืองเสิ่นหยาง มณฑลเหลียวหนิงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 18 ก.ย. 2024)