(แฟ้มภาพซินหัว : ยานยนต์พลังงานใหม่คันที่ 8 ล้านของบีวายดีจัดแสดงในพิธีเปิดโรงงานแห่งใหม่ของบีวายดีในจังหวัดระยอง วันที่ 4 ก.ค. 2024)
กรุงเทพฯ, 16 พ.ค. (ซินหัว) -- ผู้นำอุตสาหกรรมจากบริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก 6 แห่งร่วมประชุมในกรุงเทพฯ เพื่อหารือเกี่ยวกับอนาคตของยานยนต์ไฟฟ้า (xEV) โดยเน้นย้ำถึงโอกาสในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและระบุถึงความท้าทายที่สำคัญสำหรับไทย
ผู้บริหารระดับสูงจากผู้ผลิตยานยนต์ของจีน ญี่ปุ่น และยุโรป เข้าร่วมการประชุมสัมมนาที่ร่วมจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เมื่อวันพุธ (14 พ.ค.) ที่ผ่านมา พร้อมแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกและกลยุทธ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมและการบูรณาการไทยเข้ากับห่วงโซ่อุปทานระดับโลก
เรเน่ แกร์ฮาร์ด ประธานและซีอีโอ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย เน้นย้ำถึงอิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและความยั่งยืนในการกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ พร้อมย้ำถึงความสำคัญของการสร้างระบบดิจิทัล โลจิสติกส์ และไอทีที่แข็งแกร่งร่วมกับซัพพลายเออร์ในท้องถิ่น เพื่อรับมือกับความผันผวนของการค้าโลกและรับรองห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่น
โนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่าบริษัทฯ จะเดินหน้าลงทุนพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดต่อไป ขณะที่การใช้งานเทคโนโลยีไฮบริดประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในภูมิภาค อีกทั้งเรียกร้องให้มีการสนับสนุนตลาดภายในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งตลาดในประเทศและส่งออก เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่แข็งแกร่ง
สุโรจน์ แสงสนิท รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี (MG) มองว่าไทยมีแนวโน้มที่ดีในการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยขับเคลื่อนด้วยนโยบายที่เน้นความยั่งยืน แบรนด์เอ็มจีพร้อมยกระดับห่วงโซ่อุปทานในประเทศผ่านความร่วมมือและถ่ายทอดเทคโนโลยี อีกทั้งยังยึดหลักอีเอสจี (ESG) เป็นหัวใจในการดำเนินธุรกิจ และเชื่อมั่นในการสร้างการเติบโตร่วมกันกับผู้ประกอบการชาวไทย
ด้านกวนซิน รองประธาน บริษัท ฉางอัน ออโต้ เซาธ์อีส เอเชีย จำกัด กล่าวว่าบริษัทได้ลงทุนในไทยในฐานะศูนย์กลางการผลิตในต่างประเทศแห่งแรกของฉางอัน โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนาทรัพยากรบุคคล ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี กระตุ้นการจ้างงานท้องถิ่น และเพิ่มการจัดหาชิ้นส่วนในประเทศ
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวเปิดการสัมมนาว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย มีธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานกว่า 2,000 บริษัท และมีการจ้างงานกว่า 9 แสนคน โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาความนิยมยานยนต์ไฟฟ้าได้เติบโตอย่างรวดเร็ว จากยอดจดทะเบียน 84,500 คัน ในปี 2022 เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 2.06 แสนคัน ในปี 2024
ในส่วนของการลงทุน มีการขอรับส่งเสริมการลงทุนในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน จำนวน 644 โครงการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 2.8 แสนล้านบาท
อนึ่ง ภายใต้การสนับสนุนการลงทุนของรัฐบาลไทย ไทยตั้งเป้าจะเปลี่ยนผลผลิตยานยนต์ร้อยละ 30 ต่อปีให้เป็นยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในปี 2030 โดยเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านสู่การขับเคลื่อนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม