(แฟ้มภาพซินหัว : เกษตรกรเก็บใบชาที่ไร่ชาแห่งหนึ่งในเมืองเหอเฝย มณฑลอันฮุยทางตะวันออกของจีน วันที่ 3 เม.ย. 2025)
เหอเฝย, 11 พ.ค. (ซินหัว) -- ชา หนึ่งในเครื่องดื่มยอดนิยมของโลก มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์อันเกิดจากธีอะนีน (theanine) กรดอะมิโนชนิดหนึ่ง ซึ่งมอบความหวานละมุนที่ปรับสมดุลความขมของคาเทชินและคาเฟอีน พร้อมฤทธิ์สร้างความรู้สึกสงบที่ช่วยบรรเทาความวิตกกังวลและส่งเสริมการนอนหลับที่ดีขึ้น
ยอดอ่อนใบชาที่แตกใหม่ช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิจะมีธีอะนีนในระดับสูง ก่อนจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิ ส่งผลให้คุณภาพของชาเขียวที่แปรรูปจากยอดอ่อนใบชาที่ถูกเก็บเกี่ยวช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งกลไกระดับโมเลกุลเบื้องหลังการลดลงของระดับธีอะนีนตามฤดูกาลนี้เป็นปริศนามานานหลายปี
อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยนำโดยศาสตราจารย์จางจ้าวเลี่ยงจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อันฮุย ได้ไขปริศนาดังกล่าวผ่านการศึกษาระยะยาวและเผยแพร่ผลการศึกษาผ่านวารสารเดอะ แพลนท์ เซลล์ (The Plant Cell) เมื่อไม่นานนี้
การศึกษาพบว่าต้นชาในระยะการเจริญเติบโตที่รวดเร็วในฤดูใบไม้ผลิจะเผาผลาญธีอะนีนเป็นแหล่งไนโตรเจนสำหรับการแตกยอดใหม่ โดยขั้นแรกตัวลำเลียงซีเอสทีเอชเอส1 (CsTHS1) จะส่งธีอะนีนจากไซโทพลาซึม (cytoplasm) ไปยังไมโตคอนเดรีย ซึ่งเป็น "แหล่งพลังงาน" ของเซลล์
ต่อจากนั้นเอนไซม์ซีเอสจีจีที2 (CsGGT2) จะย่อยสลายธีอะนีน ส่งผลให้ความเข้มข้นของธีอะนีนลดลง ขณะอุณหภูมิเป็นตัวควบคุมหลักของกระบวนการนี้ ทำให้ทั้ง "ซีเอสทีเอชเอส1" และ "ซีเอสจีจีที2" ในต้นชาเพิ่มขึ้นตามอากาศอบอุ่นของฤดูกาล ซึ่งเร่งการสลายตัวของธีอะนีน
จางกล่าวว่าการศึกษานี้ที่เปิดเผยกระบวนการเผาผลาญธีอะนีนในต้นชาอาจมอบกลยุทธ์การปรับปรุงรสชาติของชาปลายฤดูใบไม้ผลิ เช่น ตัดต่อยีนเพื่อปรับปรุงพันธุ์แบบแม่นยำ หรือพัฒนาปุ๋ยพิเศษและเทคนิคพรางแสง เพื่อรักษาระดับธีอะนีนสำหรับการเพาะปลูกชาฤดูใบไม้ผลิเกรดพรีเมียมอย่างชาญฉลาดยิ่งขึ้น