(แฟ้มภาพซินหัว : เป็ดดำหัวดำ เป็ดน้ำใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต ที่อำเภอเติ้งโข่ว เขตปกครองตนเองมองโกเลียในทางตอนเหนือของจีน วันที่ 30 มี.ค. 2024)
ปักกิ่ง, 20 เม.ย. (ซินหัว) -- ผลสำรวจนกอพยพหลบหนาวทั่วประเทศจากสำนักบริหารป่าไม้และทุ่งหญ้าแห่งชาติจีนพบจำนวนประชากรเป็ดดำหัวดำ (Baer's Pochard) ซึ่งเป็นเป็ดน้ำใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต ได้เพิ่มขึ้นถึงมากกว่าสองเท่าในจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยการสำรวจพบเป็ดดำหัวดำ 2,555 ตัวทั่วจีน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 1,000 ตัวในปี 2012 และตอกย้ำความก้าวหน้าสำคัญในการอนุรักษ์นกน้ำใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก
เป็ดดำหัวดำจัดเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤตตามบัญชีแดงขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และสัตว์ป่าคุ้มครองระดับสูงสุดของจีน ถือเป็นจุดร่วมของการอนุรักษ์ทั่วเส้นทางบินเอเชียตะวันออก-ออสตราเลเชีย โดยจำนวนประชากรเป็ดดำหัวดำได้ลดลงอย่างมากตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เพราะสูญเสียแหล่งอยู่อาศัยและถูกล่าอย่างผิดกฎหมายทั่วเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และรัสเซียตะวันออกไกล
ปัจจุบันเป็ดดำหัวดำส่วนใหญ่ของโลกอยู่ในจีนและพบประปรายในบางประเทศในช่วงหลายปีมานี้ โดยการสำรวจล่าสุดพบว่าปัจจุบันเป็ดดำหัวดำหลบหนาวอยู่ในพื้นที่ 76 แห่งทั่วจีน ซึ่ง 16 แห่งมีเป็ดดำหัวดำอยู่มากกว่า 30 ตัว โดยแหล่งอยู่อาศัยเหล่านี้มีเป็ดดำหัวดำอยู่ 2,136 ตัว หรือร้อยละ 83.6 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งผลสำรวจนี้ช่วยแสดงภาพรวมของจำนวนประชากรเป็ดดำหัวดำในจีน และสะท้อนประสิทธิภาพในความพยายามอนุรักษ์ของจีน
ทั้งนี้ จีนเพิ่มความพยายามปกป้องนกนานาพันธุ์ รวมถึงเป็ดดำหัวดำ มีการดำเนินสารพัดมาตรการทั้งแผนการปกป้องระเบียงการบินอพยพในระดับชาติ การเผยแพร่รายชื่อแหล่งอยู่อาศัยหลักของสัตว์ป่าบนบก และการปกป้องเขตอนุรักษ์ธรรมชาติและแหล่งอยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่สำคัญอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น โดยสำนักบริหารฯ จะยกระดับระบบเฝ้าติดตาม กระชับความพยายามอนุรักษ์ในพื้นที่สำคัญ และเดินหน้าการปกป้องนกอพยพและสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อื่นๆ ต่อไป