(ภาพจากคลิปวิดีโอ : ธนิตา แร่มี หรืออู๋ซูเซียว (ขวาสุด) ดูสมาชิกวัยเด็กของทีมนักเต้นหญิงซีเหมินฝึกซ้อมการเต้นระบำอิงเกอ)
กว่างโจว, 9 ก.พ. (ซินหัว) -- ธนิตา แร่มี หรืออู๋ซูเซียว นักศึกษาชาวไทยวัย 20 ปี ซึ่งเดินทางเยือนเขตเฉาหยาง เมืองซ่านโถวหรือซัวเถา มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน ได้ทำความรู้จักการเต้นระบำอิงเกอจากทีมนักเต้นหญิงซีเหมิน บริเวณจัตุรัสหน้าวัดโบราณซีหลงในอำเภอโบราณพันปีแห่งนี้
การเต้นระบำอิงเกอมีความเก่าแก่อย่างน้อย 300 ปี ผสมผสานการละคร การเต้นระบำ และศิลปะการต่อสู้ ซึ่งได้รับความนิยมในเขตเฉาหยางและเขตเฉาหนานของเมืองซ่านโถว รวมถึงอำเภอผู่หนิงของเมืองเจียหยาง และเป็นหนึ่งในการแสดงประจำของกิจกรรมและเทศกาลพื้นบ้านในท้องถิ่น
สำหรับทีมนักเต้นหญิงซีเหมินก่อตั้งปี 1952 และเป็นทีมนักเต้นระบำอิงเกอผู้หญิงทีมแรกของภูมิภาคเฉาซ่าน ซึ่งสมาชิกเก่าแก่ที่สุดมีอายุเกือบ 80 ปีแล้ว และสมาชิกส่วนใหญ่มีอายุไม่ถึง 20 ปี ทั้งวัยเรียนและวัยทำงาน โดยการเต้นระบำอิงเกอของผู้หญิงมักอ้างอิงตำนานวีรสตรีจีนโบราณ เช่น มู่กุ้ยอิงทำหน้าที่แม่ทัพหรือฮวามู่หลานเข้าร่วมกองทัพ
ทั้งนี้ การเต้นระบำอิงเกออาจถือเป็นหนึ่งใน "ทูตวัฒนธรรม" ระหว่างจีนกับไทย โดยผู้คนไม่น้อยในไทยได้รู้จักการเต้นระบำอิงเกอ เช่น การแสดงของทีมนักเต้นระบำอิงเกอท้องถิ่นอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ปี 2023 กลายเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์
ธนิตาตื่นตาตื่นใจกับการผสมผสานความแข็งแกร่งและความอ่อนช้อยของการเต้นระบำอิงเกอ มองว่ามีจังหวะลีลาชวนให้คนดูรู้สึกตื่นเต้นเป็นพิเศษแตกต่างจากการรำไทย พร้อมชื่นชมความมุ่งมั่นตั้งใจของทีมนักเต้นหญิงซีเหมินที่อนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมดั้งเดิม และเสริมว่าการเต้นระบำอิงเกอช่วยเพิ่มความเข้าใจวัฒนธรรมเฉาซ่านและวัฒนธรรมจีน
(ภาพจากคลิปวิดีโอ : ธนิตา แร่มี หรืออู๋ซูเซียว (ขวา) เรียนรู้วิธีหมุนไม้จากอู๋เยี่ยนฮวา (ซ้าย) ผู้ฝึกสอนประจำทีมนักเต้นหญิงซีเหมิน)