(แฟ้มภาพซินหัว : ดาวเทียมสำรวจโลกถูกปล่อยสู่ห้วงอวกาศจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมไท่หยวนในเมืองไท่หยวน มณฑลซานซีทางตอนเหนือของจีน วันที่ 5 พ.ย. 2021)
ปักกิ่ง, 9 ก.พ. (ซินหัว) -- ผลการศึกษาของคณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยข้อมูลการบินและอวกาศ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ซึ่งเผยแพร่ผ่านวารสารอินเตอร์เนชันนัล เจอร์นัล ออฟ ดิจิทัล เอิร์ธ (International Journal of Digital Earth) เมื่อไม่นานนี้ ได้เปิดเผยการประยุกต์ใช้ดาวเทียมสำรวจโลกเอสดีจีแซต-1 (SDGSAT-1) ในการสังเกตการณ์แท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่ง
การเฝ้าติดตามแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซมีความจำเป็นมากขึ้น ขณะความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้นทั่วโลกและอุตสาหกรรมดังกล่าวมุ่งลดการปล่อยคาร์บอน ทว่าการเฝ้าติดตามแท่นขุดเจาะเหล่านี้ในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่และมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาถือเป็นความท้าทายมาอย่างยาวนาน
คณะนักวิจัยใช้กล้องกลิมเมอร์ (Glimmer) และเครื่องสเปกโตรมิเตอร์อินฟราเรดความร้อนของดาวเทียมเอสดีจีแซต-1 มาติดตามกิจกรรมการเผาก๊าซในทะเลจีนใต้ ซึ่งแนวทางใหม่นี้ช่วยให้สามารถทำแผนที่การดำเนินงานของแท่นขุดเจาะอย่างแม่นยำยิ่งขึ้น
การศึกษานี้ยังช่วยคณะนักวิจัยระบุแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ 113 แห่ง ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางทะเลที่ซับซ้อน ซึ่งประกอบด้วยเกาะ เรือ และสิ่งอำนวยความสะดวกนอกชายฝั่งอื่นๆ พร้อมตอกย้ำศักยภาพของดาวเทียมเอสดีจีแซต-1 ในการติดตามสถานะการดำเนินงานของแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ
อนึ่ง ดาวเทียมเอสดีจีแซต-1 ถูกปล่อยสู่ห้วงอวกาศวันที่ 5 พ.ย. 2021 ถือเป็นดาวเทียมสำรวจโลกดวงแรกของโลกที่ถูกออกแบบมาสนับสนุนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2030 ขององค์การสหประชาชาติ (UN) โดยดาวเทียมดวงนี้คอยมอบข้อมูลจากอวกาศสำหรับประเมินปฏิสัมพันธ์มนุษย์-สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน