(แฟ้มภาพซินหัว : ภาพจำลองการลงจอดของยานลงจอดและยานพุ่งขึ้นของฉางเอ๋อ-6 บนด้านไกลของดวงจันทร์ วันที่ 2 มิ.ย. 2024)
ปักกิ่ง, 4 ก.พ. (ซินหัว) -- เมื่อวันจันทร์ (3 ก.พ.) ไชน่า มีเดีย กรุ๊ป (China Media Group) รายงานว่ายานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-7 (Chang'e-7) ของจีน ซึ่งมีกำหนดปล่อยสู่ห้วงอวกาศในปี 2026 จะเดินทางมุ่งหน้าสู่ขั้วใต้ของดวงจันทร์เพื่อค้นหาแหล่งน้ำแข็งที่เกิดจากการแข็งตัวของน้ำ และทดสอบเทคโนโลยีล้ำสมัยที่จำเป็นต่อการทำกิจกรรมที่ยั่งยืนของมนุษย์บนดวงจันทร์
รายงานระบุว่าภารกิจดังกล่าวจะใช้ยานอวกาศฮอปเปอร์ (hopper spacecraft) ล้ำสมัยที่ติดตั้งเครื่องวิเคราะห์โมเลกุลน้ำเอาไว้ เพื่อยืนยันการมีอยู่และการกระจายตัวของน้ำแข็งในหลุมอุกกาบาตที่อยู่ภายใต้เงามืดบนดวงจันทร์
ถังอวี้หัว รองหัวหน้านักออกแบบภารกิจฉางเอ๋อ-7 ให้สัมภาษณ์ว่าภารกิจฉางเอ๋อ-3 และฉางเอ๋อ-5 ประสบความสำเร็จในการลงจอดบนด้านใกล้ของดวงจันทร์ ขณะที่ฉางเอ๋อ-4 และฉางเอ๋อ-6 สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการลงจอดบนด้านไกลของดวงจันทร์ ดังนั้นการลงจอดตามแผนของฉางเอ๋อ-7 ที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์จึงจะเป็นการทดสอบศักยภาพยานสำรวจของจีนในการเข้าถึงทุกภูมิภาคบนดวงจันทร์
ถังกล่าวว่าการค้นพบแหล่งน้ำแข็งที่เกิดจากการแข็งตัวของน้ำบนดวงจันทร์จะช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาที่ต้องใช้ในการขนส่งน้ำจากโลกอย่างมาก ซึ่งจะเอื้อต่อการจัดตั้งฐานสำหรับปฏิบัติการระยะยาวบนดวงจันทร์ และเปิดโอกาสให้มีการสำรวจดาวอังคารหรืออวกาศห้วงลึกเพิ่มเติมในอนาคต
อู๋เหว่ยเหริน หัวหน้านักออกแบบโครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีน กล่าวว่ายานฉางเอ๋อ-7 ซึ่งประกอบด้วยยานโคจร ยานลงจอด ยานสำรวจ และยานฮอปเปอร์ จะเผชิญหลายความท้าทายรุนแรง เช่น อุณหภูมิต่ำกว่า -100 องศาเซลเซียส และลักษณะภูมิประเทศที่ซับซ้อนบนดวงจันทร์
ยานอวกาศฮอปเปอร์ ซึ่งเป็นยานสำรวจดวงจันทร์รูปแบบใหม่ จะ "กระโดด" จากพื้นที่ที่โดนแสงแดดไปยังหลุมอุกกาบาตภายใต้เงามืดเพื่อทำการวิเคราะห์อย่างละเอียด และจะใช้เทคโนโลยีดูดซับแรงกระแทกเพื่อให้สามารถลงจอดบนพื้นที่ลาดชันอย่างปลอดภัย ส่วนยานลงจอดจะใช้งานระบบนำทางด้วยภาพสำหรับอวกาศห้วงลึกเพื่อรับรองความแม่นยำการลงจอด
ยานสำรวจฉางเอ๋อ-7 สามารถวิเคราะห์ภูมิประเทศที่ต้องลงจอดได้เอง โดยปฏิบัติการของยานมากกว่าครึ่งหนึ่งจะดำเนินการแบบอัตโนมัติและไม่ต้องอาศัยการควบคุมจากศูนย์ภาคพื้นดิน ซึ่งถังระบุว่าขณะนี้กำลังปรับปรุงแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งในแนวตั้งบนยาน เพื่อให้สามารถรับแสงอาทิตย์ที่มุมต่ำใกล้กับขั้วดวงจันทร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และภารกิจนี้ได้เข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายของการประกอบและการทดสอบแล้ว