ปักกิ่ง, 28 ก.ย. (ซินหัว) -- เมื่อวันศุกร์ (27 ก.ย.) ดาวเทียมโซลาร์ วินด์ แม็กนีโตสเฟียร์ ไอโอโนสเฟียร์ ลิงก์ เอ็กพลอเลอร์ หรือสไมล์ (SMILE) ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อสำรวจลมสุริยะ เสร็จสิ้นขั้นตอนการพัฒนาในประเทศจีนแล้ว
นับเป็นก้าวสำคัญใหม่ของภารกิจอวกาศจีน-ยุโรป เนื่องจากดาวเทียมดวงนี้เป็นภารกิจร่วมระหว่างสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนและองค์การอวกาศยุโรป ซึ่งมุ่งทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของดวงอาทิตย์-โลกอย่างลึกซึ้งโดยการสำรวจปฏิกิริยาเชิงพลวัตระหว่างลมสุริยะและสนามแม่เหล็กโลก
ศูนย์วิทยาศาสตร์อวกาศแห่งชาติจีน สังกัดสถาบันฯ ระบุว่าดาวเทียมสไมล์ดำเนินงานพัฒนาในจีนเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งรวมถึงการทดสอบดาวเทียม การทดสอบส่วนต่อประสานของระบบ และการทดลองทางสิ่งแวดล้อม
คาดการณ์ว่าฐานดาวเทียมและโมดูลอุปกรณ์บรรทุกสัมภาระ (Payload Module) จะได้รับการขนส่งถึงศูนย์วิจัยและเทคโนโลยีอวกาศยุโรปในเนเธอร์แลนด์ในเดือนตุลาคมนี้ ก่อนจะได้รับการบูรณาการและการทดสอบต่อไป โดยโมดูลอุปกรณ์บรรทุกสัมภาระได้รับการพัฒนาโดยองค์การอวกาศยุโรป
ดาวเทียมสไมล์มีกำหนดปล่อยสู่ห้วงอวกาศภายในสิ้นปี 2025 ด้วยจรวดนำส่งเวกา-ซี (Vega-C) ของบริษัทอาเรียนสเปซ (Arianespace) จากฐานปล่อยดาวเทียมของยุโรปในเมืองกูรู จังหวัดเฟรนช์เกียนาของฝรั่งเศส และโครงการนี้ถือเป็นภารกิจความร่วมมืออย่างรอบด้านและเจาะลึกครั้งแรกในด้านการสำรวจวิทยาศาสตร์อวกาศระหว่างจีนกับองค์การอวกาศยุโรป
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ทางวิทยาศาสตร์คือการสำรวจโครงสร้างขนาดใหญ่ และรูปแบบพื้นฐานของปฏิกิริยาระหว่างลมสุริยะ-สนามแม่เหล็กโลก เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโดยรวม และการแปรผันตามระยะพายุย่อย (substorm) ภายในสนามแม่เหล็กโลก และเพื่อศึกษาการเริ่มต้นและพัฒนาการของพายุแม่เหล็กที่ขับเคลื่อนโดยการปลดปล่อยก้อนมวลสารโคโรนา
(แฟ้มภาพซินหัว : ผู้เยี่ยมชมถ่ายภาพแบบจำลองสถานีอวกาศของจีนที่พิพิธภัณฑ์อวกาศแห่งประเทศจีนในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน วันที่ 24 เม.ย. 2023)