(แฟ้มภาพซินหัว : นกแร้งบนต้นไม้ในเคนยา วันที่ 5 ก.ย. 2024)
ไนโรบี, 13 ต.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันศุกร์ (11 ต.ค.) กองทุนสัตว์ป่าโลกสากลแห่งเคนยา (WWF-Kenya) เปิดเผยว่าจำนวนประชากรสายพันธุ์สัตว์ป่าที่มีความโดดเด่นของแอฟริกา ได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน ปลา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และนก ลดลงร้อยละ 76 ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา
รายงานโลกสิ่งมีชีวิต ปี 2024 ของกองทุนฯ ระบุว่าจำนวนประชากรสัตว์ป่าในแอฟริกาที่ลดลงในช่วงปี 1970-2020 มีสาเหตุหลักจากการสูญเสียและความเสื่อมโทรมของแหล่งที่อยู่อาศัย การแสวงหาประโยชน์เกินควร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษ สายพันธุ์รุกราน และโรคภัย
แนวโน้มอันน่าตกใจนี้ตอกย้ำความจำเป็นเร่งด่วนของการปฏิบัติงานที่มุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อคุ้มครองระบบนิเวศทางธรรมชาติของแอฟริกาและการดำรงชีวิตที่พึ่งพาสัตว์ป่า
รายงานฉบับนี้ยังเผยแนวโน้มความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกและสุขภาพของโลกที่อ้างอิงวิทยาศาสตร์อันครอบคลุมรอบด้านในภาพรวม โดยระบบนิเวศน้ำจืดทรุดโทรมมากที่สุดถึงร้อยละ 85 ตามด้วยระบบนิเวศบนบกทรุดโทรมลงร้อยละ 69 และระบบนิเวศทางทะเลทรุดโทรมลงร้อยละ 56
การลดลงอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากรสัตว์ป่าบ่งชี้ความเสี่ยงสูญพันธุ์ที่อาจสั่นคลอนเสถียรภาพของระบบนิเวศต่างๆ และขัดขวางชุมชนแอฟริกาจากแหล่งทำมาหากินหลัก ทว่าหากกลุ่มประเทศแอฟริกาบรรลุเป้าหมายด้านธรรมชาติ สภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาที่ยั่งยืน จะสามารถพลิกกลับการลดลงของจำนวนประชากรสัตว์ป่าได้ดียิ่งขึ้น
(แฟ้มภาพซินหัว : ทีมเจ้าหน้าที่ดูแลสัตว์ป่าเคลื่อนย้ายช้างในเคนยา วันที่ 3 ต.ค. 2024)
รายงานเน้นย้ำว่าการรักษาเสถียรภาพของจำนวนประชากรสัตว์ป่าในแอฟริกาต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในรูปแบบการผลิตและการบริโภค นอกเหนือจากการลงทุนด้านการอนุรักษ์ที่นำโดยชุมชน ขณะรัฐบาล อุตสาหกรรม และหุ้นส่วนทวิภาคีของแอฟริกาควรขยายการคุ้มครองระบบนิเวศบนบกและทางทะเล เพื่อช่วยให้สายพันธุ์สัตว์ป่าที่มีความโดดเด่นเจริญเติบโต
โมฮาเหม็ด อาเวอร์ ซีอีโอกองทุนฯ กล่าวว่าการฟื้นฟูธรรมชาติ การเพิ่มความเข้มข้นของปฏิบัติการแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน จะเป็นกุญแจสำคัญในการลดการสูญเสียสัตว์ป่าของแอฟริกา โดยแนวทางแบบทั้งสังคมมุ่งระดมทรัพยากรและพลังของชุมชนจะช่วยหลีกเลี่ยงการสูญเสียหรือสูญพันธุ์ของสายพันธุ์สัตว์ป่าหายาก
แจ็คสัน คิปลาแกต หัวหน้าโครงการอนุรักษ์ประจำกองทุนฯ กล่าวว่าสายพันธุ์สัตว์ป่าที่มีความโดดเด่น เช่น สิงโตแอฟริกา ช้างแอฟริกา และแรดดำ ตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคาม ส่วนมาตรการอนุรักษ์อันแข็งแกร่งจะช่วยรักษาเสถียรภาพของจำนวนประชากรสัตว์ป่า