(แฟ้มภาพซินหัว : นักศึกษาในหลักสูตรการเต้นลีลาศ ฝึกซ้อมอยู่ในสถานที่สำหรับการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยผู้สูงอายุ ในชุมชนเย่ว์เหอ เขตเหวยเฉิง เมืองเวยฟาง มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน วันที่ 16 พ.ค. 2024)
เสิ่นหยาง, 11 ต.ค. (ซินหัว) -- เมื่อเดินผ่านห้องสตูดิโอเรียนเต้นของวิทยาลัยดนตรีเสิ่นหยาง (Shenyang Conservatory of Music) ในมณฑลเหลียวหนิงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ภาพที่คุณจะได้เห็นคือกลุ่มนักศึกษา "ผู้มีผมสีดอกเลา" กำลังตั้งใจฝึกฝนกันอย่างแข็งขัน พวกเขาเหล่านี้ไม่ใช่นักศึกษาทั่วไป แต่คือกลุ่มผู้สูงวัยที่ลงทะเบียนเรียนในหลักสูตรสำหรับผู้สูงอายุของมหาวิทยาลัย สืบเนื่องจากหลักสูตรการศึกษาสำหรับผู้สูงวัย หรือที่มักเรียกกันว่า "มหาวิทยาลัยผู้สูงอายุ" กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศจีนที่มีประชากรวัย 60 ปีขึ้นไปมากถึงเกือบ 300 ล้านคน
การสม้ครเรียนหลังเกษียณ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกโยคะ เรียนถ่ายภาพ หรือ ฝึกฝนฝีมือปลายจวัก กำลังกลายเป็นส่วนสำคัญในแผนเกษียณอายุของผู้สูงวัยชาวจีน หนึ่งในนั้นคือหญิงแซ่โจววัย 64 ปี ที่ลงเรียนทั้งเต้นรำ เขียนอักษรพู่กันจีน และเปียโน ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการพัฒนาตนเองในทุกด้านที่ทำได้
วิทยาลัยดนตรีเสิ่นหยาง มีนักศึกษาสูงวัยลงทะเบียนเรียนหลักสูตรผู้สูงอายุแล้วกว่า 1,700 คน นับตั้งแต่เปิดรับสมัครเมื่อปี 2023 โดยทางมหาวิทยาลัยเปิดสอนหลักสูตรที่หลากหลายในแต่ละภาคการศึกษา ทั้งดนตรี การเต้นรำ วิทยุกระจายเสียง และวิจิตรศิลป์ โดยใช้ทรัพยากรระดับสูงของตนในการรองรับนักศึกษากลุ่มนี้
สำหรับผู้สูงอายุหลายคน ประโยชน์ที่ได้รับจากการสมัครเรียนไม่ได้จำกัดอยู่แค่การได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ แต่ยังเป็นการสร้างช่องทางการเข้าสังคมที่สำคัญ ให้พื้นที่แก่ผู้เกษียณอายุในการเชื่อมโยงกับผู้ที่มีความชอบความสนใจเหมือนกัน "เราต้องทำให้สมองยังปราดเปรื่องและยังมีส่วนร่วมในเรื่องต่างๆ หลังเกษียณ ซึ่งคลาสเรียนเหล่านี้มอบโอกาสให้พวกเรา" โจวกล่าว
ข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการจีนชี้ให้เห็นว่าหลายๆ โครงการริเริ่มของรัฐบาลก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน เช่น การจัดตั้งมหาวิทยาลัยผู้สูงอายุแห่งประเทศจีน (The Seniors University of China: SUC) เมื่อปี 2023 และในเดือนเมษายนปีนี้ มหาวิทยาลัยฯ ได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ระดับรากหญ้าขึ้น 55,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งสามารถให้บริการนักศึกษาสูงวัยได้มากกว่า 22.14 ล้านคน
การเพิ่มศูนย์การเรียนรู้เช่นนี้เป็นไปเพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้สูงอายุจำนวนมากมองว่าการลงเรียนวิชาต่างๆ เป็นความสนุกของชีวิตหลังเกษียณ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยผู้สูงอายุยังช่วยเอื้อให้เกิดการปรับเปลี่ยนจาก "การดูแลทางการแพทย์" มาเป็น "การดูแลด้านการเรียนรู้" อันช่วยให้ผู้สูงอายุยังคงมีส่วนร่วมทางสังคมและปรับตัวให้เข้ากับชีวิตวัยเกษียณและบทบาทใหม่ๆ ในสังคมได้อย่างราบรื่น
ในเวลาเดียวกัน ความต้องการที่เติบโตอย่างรวดเร็วนี้ได้สร้างความท้าทายให้บรรดามหาวิทยาลัย เช่น การรับนักเรียนยังมีจำนวนจำกัด บางวิชายังปรับเนื้อหาให้ทันตามทันความต้องการของผู้เรียนไม่ได้ ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำว่าจำเป็นต้องขยายระบบมหาวิทยาลัยผู้สูงอายุให้ใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับประชากรสูงวัยของประเทศที่เพิ่มอย่างรวดเร็ว ด้านองค์กรเอกชนต่างๆ ก็เริ่มหาทางตอบสนองความต้องการนี้เช่นกัน ผ่านการจัดตั้งโครงการการเรียนรู้ของผู้สูงวัย เพื่อสร้างทางเลือกเพิ่มเติมให้กับผู้ที่สนใจ