(แฟ้มภาพซินหัว : นักวิจัยทำงานที่ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ทางชีวภาพของสถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์แมนน์ในเมืองเรโฮโวทของอิสราเอล วันที่ 7 ก.ย. 2023)
เยรูซาเล็ม, 9 เม.ย. (ซินหัว) -- เมื่อวันอังคาร (8 เม.ย.) มหาวิทยาลัยเบนกูเรียนเปิดเผยว่าทีมนักวิจัยชาวอิสราเอลของมหาวิทยาลัยฯ พัฒนาเครื่องมือตรวจจับโหนดผิดปกติในกราฟแบบมีน้ำหนัก (WGAND) ซึ่งเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับระบุโปรตีนสำคัญที่อาจเปิดทางสู่ความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับโรคในมนุษย์
เครื่องมือดังกล่าวใช้หลักการที่คล้ายกับการตรวจจับการฉ้อโกงในเครือข่ายสังคมออนไลน์มาวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ของโปรตีนในร่างกาย โดยบทความวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารกิกะไซแอนซ์ (GigaScience) ระบุว่าอัลกอริธึมนี้สามารถตรวจพบโปรตีนพฤติกรรมผิดปกติที่เชื่อมโยงกับโปรตีนตัวอื่นๆ จำนวนมาก และมีบทบาทสำคัญในกระบวนการทางชีวภาพ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการเข้าใจสุขภาพและโรคต่างๆ
การทดสอบพบว่าเครื่องมือนี้สามารถระบุโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับโรคทางสมองและหัวใจได้สำเร็จ รวมถึงโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานสำคัญ อาทิ การส่งสัญญาณของเส้นประสาท และการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ โดยผลลัพธ์ที่ได้แม่นยำกว่าวิธีการเดิมที่มีอยู่
มหาวิทยาลัยฯ ระบุว่าการผสานองค์ความรู้ด้านชีววิทยาเข้ากับความเชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ส่งผลให้เครื่องมือนี้มีศักยภาพสำหรับนำไปใช้ในการแพทย์แบบมุ่งเป้า และช่วยเปิดเผยข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการทำงานของร่างกายมนุษย์