(ภาพจากองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ : ไฟป่าในออสเตรเลีย)
ซิดนีย์, 9 เม.ย. (ซินหัว) -- ผลการศึกษาจากคณะนักวิจัยของออสเตรเลีย ซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลของโรงพยาบาลจากชุมชนมากกว่า 1,000 แห่งของ 8 ประเทศและภูมิภาคในระยะเวลากว่า 20 ปี พบว่าควันจากไฟป่าเพิ่มความเสี่ยงเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมากกว่ามลพิษทางอากาศประเภทอื่นๆ
คณะนักวิจัยระบุว่าอนุภาคขนาดเล็กหรือฝุ่นพีเอ็ม2.5 (PM2.5) ในควันไฟป่าเชื่อมโยงกับความเสี่ยงเข้าโรงพยาบาลด้วยโรคหอบหืด ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ และปัญหาระบบทางเดินหายใจอื่นๆ เพิ่มขึ้น โดยอนุภาคเหล่านี้ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยนำสู่การเข้าโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น ซึ่งเด็ก วัยรุ่น ผู้สูงอายุ และคนที่มีรายได้ต่ำหรืออยู่ในพื้นที่มีมลพิษอยู่แล้วได้รับผลกระทบหนักที่สุด
ควันไฟป่าเป็นอันตรายมากกว่ามลพิษจากรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม หรือแหล่งอื่นๆ ขณะเดียวกันฝุ่นพีเอ็ม2.5 จากไฟป่าเพิ่มความเสี่ยงเข้าโรงพยาบาลด้วยโรคทางเดินหายใจทั้งหมดและป่วยเป็นโรคหอบหืดมากกว่าเมื่อเทียบกับฝุ่นพีเอ็ม2.5 ที่ไม่ได้มาจากไฟป่า โดยควันไฟป่ามีส่วนส่งเสริมการเข้าโรงพยาบาลด้วยโรคทางเดินหายใจที่เกี่ยวกับฝุ่นพีเอ็ม2.5 ถึงร้อยละ 42.4
อนึ่ง ผลการศึกษานี้จัดทำโดยกลุ่มองค์กรของออสเตรเลีย ซึ่งรวมถึงมหาวิทยาลัยโมแนชและมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ และเผยแพร่ผ่านวารสารเนเจอร์ ซัสเทนอะบิลิตี (Nature Sustainability) เมื่อวันอังคาร (8 เม.ย.) ที่ผ่านมา