(แฟ้มภาพซินหัว : ทิวทัศน์บริเวณใกล้กับสถานีฉินหลิ่งของจีนในทวีปแอนตาร์กติกา วันที่ 27 ธ.ค. 2024)
แคนเบอร์รา, 9 เม.ย. (ซินหัว) -- เมื่อวันจันทร์ (7 เม.ย.) โครงการความร่วมมือแอนตาร์กติกของออสเตรเลีย เปิดเผยว่างานวิจัยใหม่ที่โครงการฯ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแทสเมเนีย และนักวิทยาศาสตร์จากฟินแลนด์และฝรั่งเศส พบว่าน้ำใต้ธารน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกามีบทบาทต่อการสูญเสียน้ำแข็งมากกว่าที่แบบจำลองสภาพภูมิอากาศก่อนหน้านี้ประเมินไว้เป็นอย่างมาก
งานวิจัยระบุว่ามีเครือข่ายแม่น้ำและทะเลสาบซุกซ่อนอยู่ภายใต้ผืนธารน้ำแข็งของภูมิภาคแอนตาร์กติก ซึ่งเกิดจากการละลายของน้ำแข็งหรือหิมะบนพื้นผิวของธารน้ำแข็ง และแรงเสียดทานที่ฐานของธารน้ำแข็ง โดยน้ำใต้ธารน้ำแข็งเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวหล่อลื่นที่ช่วยเร่งการไหลของน้ำแข็งลงสู่มหาสมุทร แต่แบบจำลองทางสภาพภูมิอากาศจำนวนมากกลับมองข้ามปัจจัยนี้
ทีมนักวิจัยพบว่าเมื่อนำข้อมูลการเคลื่อนไหวของน้ำใต้ธารน้ำแข็งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเข้าสู่แบบจำลองแผ่นน้ำแข็ง อาจทำให้อัตราการปลดปล่อยน้ำแข็งเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า แต่สิ่งสำคัญคือความดันของน้ำบริเวณแนวต่อฐาน ซึ่งเป็นจุดที่แผ่นน้ำแข็งเริ่มลอยตัว ที่มีผลกระทบอย่างมากต่อความเร็วในการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล
การศึกษาเตือนว่าหากไม่รวมข้อมูลของน้ำใต้ธารน้ำแข็งไว้ในการคาดการณ์ อาจส่งผลให้ประเมินการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลทั่วโลกต่ำกว่าความเป็นจริงถึง 2 เมตรภายในปี 2300 ซึ่งจะส่งผลให้ผู้คนนับล้าน รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานและทรัพย์สินตามแนวชายฝั่งมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐตกอยู่ในความเสี่ยง
ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวยังระบุว่าการเพิกเฉยต่อระบบไหลเวียนของน้ำที่ซ่อนอยู่เหล่านี้อาจทำให้นักวิทยาศาสตร์พลาดจุดเปลี่ยนสำคัญ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การสูญเสียน้ำแข็งเข้าสู่ภาวะที่ไม่สามารถย้อนกลับได้ ล่าช้าออกไปถึง 40 ปี
อนึ่ง งานวิจัยนี้เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ คอมมูนิเคชันส์ (Nature Communications) เรียกร้องให้มีการพัฒนาแบบจำลองสภาพภูมิอากาศให้แม่นยำยิ่งขึ้น เพื่อใช้คาดการณ์ระดับน้ำทะเลในอนาคตและกำหนดแนวทางปรับตัวในระดับโลกอย่างมีประสิทธิภาพ