บรัสเซลส์, 3 เม.ย. (ซินหัว) -- หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันแสดงท่าทีเมินเฉยไม่แยแสยุโรป ส่งผลให้อารมณ์ความรู้สึกของชาวยุโรปเปลี่ยนแปลงจากที่แค่ตั้งคำถามอย่างสงสัยเกี่ยวกับนโยบายต่อยุโรปและสถานะพันธมิตรที่เชื่อถือได้ของสหรัฐฯ กลายเป็นกระแสคว่ำบาตรสินค้าสหรัฐฯ เพื่อแสดงความไม่พอใจและโกรธเคือง
เทสลา (Tesla) ได้ตกเป็นเป้าหมายแรก โดยเมื่อไม่นานนี้ ร้านตัวแทนจำหน่ายของเทสลาในกรุงโรมเกิดไฟไหม้จนรถยนต์เสียหาย 17 คัน ซึ่งหน่วยดับเพลิงไม่ตัดความเป็นไปได้ว่าถูกลอบวางเพลิง และก่อนหน้านั้นมีการประท้วงหน้าร้านตัวแทนจำหน่ายของเทสลาในมิลานและลอนดอน ขณะชาวเยอรมนีทยอยขายต่อรถยนต์เทสลาด้วยเหตุผลทางการเมือง
ชาวยุโรปไม่น้อยเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเทสลาเป็นผลพวงจากคำพูดและการกระทำของอีลอน มัสก์ ซีอีโอเทสลา ผู้แสดงการสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดในยุโรป กอปรกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาสนับสนุนการผนวกกรีนแลนด์ และคิด "ภาษีศุลกากรตอบโต้" กับยุโรป ทำให้สายสัมพันธ์สหรัฐฯ-ยุโรปยิ่งตึงเครียดกว่าเดิม
สินค้าอื่นๆ ของสหรัฐฯ ถูกชาวยุโรปคว่ำบาตรด้วยเช่นกัน เห็นได้จากกลุ่ม "ซื้อสินค้าจากสหภาพยุโรป" บนแพลตฟอร์มเรดดิต (Reddit) มีผู้เข้าร่วมเกือบ 2 แสนราย เมื่อนับถึงวันที่ 1 เม.ย. หรือบรรดาซูเปอร์มาร์เกตในสเปน โปรตุเกส และโปแลนด์ มีลูกค้าท้องถิ่นจับถุงมันฝรั่งทอดกรอบของสหรัฐฯ คว่ำลงเพื่อแสดงความไม่พอใจ
ผลสำรวจคนอายุ 18 ปีขึ้นไปในฝรั่งเศสจากสถาบันความคิดเห็นสาธารณะแห่งฝรั่งเศสเมื่อกลางเดือนมีนาคมพบว่าชาวฝรั่งเศสไม่ต้องการซื้อสินค้าจากบริษัทของสหรัฐฯ กันมากขึ้น โดยเกือบ 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามเผยว่าพวกเขาคว่ำบาตรบริษัทสหรัฐฯ ซึ่งมีแมคโดนัลด์ โคคา-โคล่า และเทสลาอยู่ในอันดับต้นๆ
ขณะเดียวกันความประทับใจและความเต็มใจจะเดินทางท่องเที่ยวสหรัฐฯ ของชาวยุโรปลดลงเพราะการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ ในช่วงไม่นานนี้ โดยมีการสังเกตพบตลาดการเดินทางท่องเที่ยวสหรัฐฯ ชะลอตัว โดยเฉพาะหลังจากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง
นอกจากนั้นความไม่ลงรอยกันในประเด็นวิกฤตยูเครนและการจัดเก็บภาษีศุลกากรส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปกับสหรัฐฯ ย่ำแย่ลง เช่น กรณีชาวอิตาลีหลายหมื่นคนชุมนุมกลางกรุงโรมเมื่อวันที่ 14 มี.ค. เพื่อคัดค้านรัฐบาลสหรัฐฯ ที่พยายามสร้างความแตกแยกด้านการป้องกันประเทศและการค้าระหว่างสองฝ่าย
โรเบิร์ต แฟรงค์ นักวิเคราะห์การเมืองชาวโครเอเชีย มองว่าทรัมป์เน้นย้ำนโยบาย "อเมริกาต้องมาก่อน" (America First) และการกระทำเพียงฝ่ายเดียว (Unilateralism) ในกิจการต่างประเทศ พร้อมกับใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้และการกีดกันทางการค้าในกิจการเศรษฐกิจ ซึ่งนำสู่ความบาดหมางรุนแรงกับยุโรป
แฟรงค์เสริมว่ายิ่งกว่านั้นทรัมป์ยังขู่จะถอนสหรัฐฯ ออกจากองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (NATO) ส่งผลให้ยุโรปมองว่าสหรัฐฯ ไม่ได้มีความมุ่งมั่นจะรับประกันความมั่นคงของยุโรปอย่างจริงจังเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว
(แฟ้มภาพซินหัว : ธงสหภาพยุโรป บริเวณสำนักงานใหญ่คณะกรรมาธิการยุโรป ในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม วันที่ 6 ม.ค. 2023)