โรม, 25 มี.ค. (ซินหัว) -- เซอร์จิโอ ฟาบบรินี ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลุยส์ของอิตาลี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวของจีนว่าการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่สหรัฐฯ เป็นผู้ผลักดันเมื่อไม่นานมานี้ สะท้อนถึงความแตกแยกระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรปที่เพิ่มมากขึ้น จนทำให้ความสัมพันธ์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกตกต่ำลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ฟาบบรินีระบุว่าการที่ยุโรปถูกกันออกจากการเจรจาครั้งนี้ตอกย้ำถึงอิทธิพลของสหภาพยุโรปที่ลดลงในการจัดการความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากการขาดเอกภาพในการประสานนโยบายต่างประเทศร่วมกันภายในที่ทำให้ยากต่อการมีบทบาทในเวทีโลก โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐฯ เลือกที่จะดำเนินการโดยลำพัง
ฟาบบรินีเสริมว่าปัญหาความไม่เป็นเอกภาพของกลไกสถาบันนี้ เกิดขึ้นพร้อมกับมุมมองที่ไม่ไว้วางใจของรัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีต่อสหภาพยุโรป โดยทรัมป์เคยกล่าวว่าสหภาพยุโรปเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อบ่อนทำลายผลประโยชน์ของสหรัฐฯ มากกว่าจะเสริมสร้างความมั่นคงของโลก
ฟาบบรินีเน้นย้ำความแตกต่างด้านมุมมองที่สหรัฐฯ และยุโรปมีต่อวิกฤตยูเครน โดยสำหรับยุโรปแล้ว วิกฤตยูเครนคือภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่เกิดขึ้นใกล้ตัว แต่สำหรับสหรัฐฯ วิกฤตยูเครนคือการคำนวณเชิงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจ พร้อมเตือนว่าความตึงเครียดในปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในวิกฤตที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ข้ามแอตแลนติก และเรียกร้องให้ยุโรปพัฒนาศักยภาพทางการทูตอย่างอิสระมากขึ้น
ทั้งนี้ ฟาบบรินีระบุว่ายุโรปจำเป็นต้องรับผิดชอบด้านโครงสร้างความมั่นคงของตนเองให้มากขึ้น พร้อมรักษาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของแต่ละประเทศกับเสถียรภาพร่วมของทั้งทวีป
(แฟ้มภาพซินหัว : ธงสหภาพยุโรปโบกสะบัดด้านนอกสำนักงานใหญ่ของคณะกรรมาธิการยุโรปในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม วันที่ 29 ม.ค. 2025)