แคนเบอร์รา, 19 มี.ค. (ซินหัว) -- วันพุธ (19 มี.ค.) สำนักวิจัยธรณีศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) รายงานการค้นพบฟอสซิลปลาสายพันธุ์ใหม่ที่เคยอาศัยอยู่ในทะเลสาบน้ำจืดและแม่น้ำของออสเตรเลียเมื่อ 15 ล้านปีก่อน ช่วยเพิ่มพูนความเข้าใจวิวัฒนาการของสายพันธุ์ปลาน้ำจืดและระบบนิเวศโบราณของออสเตรเลีย
รายงานระบุว่าฟอสซิลปลายุคโบราณสายพันธุ์ใหม่ที่ถูกค้นพบได้รับการตั้งชื่อตามโจเคน บรอกส์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการค้นพบครั้งนี้ โดยฟอสซิลดังกล่าวถูกตั้งชื่อว่าเฟอร์รูแอสพิส บรอกซี (Ferruaspis brocksi) พบที่แมคกราธส์ แฟลต แหล่งฟอสซิลใกล้เมืองกูลกอง รัฐนิวเซาธ์เวลส์ ชื่อนี้มาจากคำว่าเฟอร์รู (ferru) ที่แปลว่าเหล็กในภาษาละติน เนื่องจากฟอสซิลนี้ถูกเก็บรักษาไว้ในชั้นหินที่มีธาตุเหล็กสูง และบรอกซี (brocksi) ตั้งตามชื่อของศาสตราจารย์บรอกส์
แมทธิว แมคเคอร์รี ผู้เชี่ยวชาญจากพิพิธภัณฑ์ออสเตรเลียและมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ซิดนีย์ ระบุว่าฟอสซิลดังกล่าวเป็นฟอสซิลของปลาสายพันธุ์ออสเตรเลียน สเมลต์ (Australian Smelt) ชิ้นแรก ซึ่งช่วยบ่งชี้ช่วงเวลาที่ปลากลุ่มนี้เดินทางมายังออสเตรเลียและระบุวิวัฒนาการของพวกมัน
แมคเคอร์รีระบุว่าสิ่งที่อยู่ในกระเพาะของฟอสซิลดังกล่าวยังคงอยู่ในสภาพดีมากจนทำให้นักวิจัยสามารถระบุอาหารของมันได้ โดยพบว่าอาหารหลักของปลาโบราณนี้คือตัวอ่อนของริ้นผีขนาดเล็ก ทั้งยังพบตัวอ่อนหอยน้ำจืดเกาะติดอยู่ที่หางและเหงือกของปลาดังกล่าว ซึ่งอาจใช้ปลาเป็นพาหนะในการเคลื่อนที่ไปตามสายน้ำ
ไมเคิล เฟรเซอร ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแคนเบอร์รา และองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) ของออสเตรเลีย ระบุว่าทีมวิจัยสร้างลวดลายสีของปลาโบราณนี้ขึ้นมาใหม่โดยใช้เมลาโนโซม (Melanosomes) หรือตัวผลิตและกักเก็บเม็ดสีเมลานินที่พบในฟอสซิล ซึ่งเป็นเทคนิคที่เคยใช้ศึกษาขนนกของนกโบราณ แต่ไม่เคยนำมาใช้กับปลามาก่อน โดยปลาดังกล่าวมีสีเข้มบริเวณด้านหลัง ท้องมีสีอ่อนกว่า และมีแถบสีข้างลำตัวสองเส้นพาดยาว
อนึ่ง งานวิจัยดังกล่าวเผยแพร่ในวารสารเวอร์เทเบรท พาเลนโทโลจี (Vertebrate Palaeontology) ซึ่งระบุว่าแหล่งแมคกราธส์ แฟลตเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้เห็นภาพส่วนหนึ่งของป่าฝนเขตอบอุ่นที่เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตเมื่อ 11-16 ล้านปีก่อน
(แฟ้มภาพซินหัว : ประติมากรรมบริเวณหาดคอตเตสโล เมืองเพิร์ธของออสเตรเลีย วันที่ 5 มี.ค. 2021)