(แฟ้มภาพซินหัว : นักวิจัยทำงานที่ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ชีวภาพที่สถาบันวิทยาศาสตร์ไวซ์มานน์ ในเมืองรีโชโวตของอิสราเอล วันที่ 7 ก.ย. 2023)
เยรูซาเล็ม, 5 มี.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันอังคาร (4 มี.ค.) แถลงการณ์จากสถาบันเทคโนโลยีอิสราเอลหรือเทคเนียน (Technion) ระบุว่าคณะนักวิจัยของอิสราเอลได้พัฒนาวิธีการใหม่แบบไม่รุกรานเพื่อเฝ้าติดตามกระบวนการระดับโมเลกุลภายในเนื้อเยื่อลึกในโรคมะเร็งและโรคอื่นๆ
แนวทางข้างต้นเรียกว่า "การถ่ายภาพรังสีทางเคมี" (chemical tomography) เอื้อให้คณะนักวิจัยเฝ้าติดตามการลุกลามของโรคมะเร็งในระยะต่างๆ ทำความเข้าใจชีววิทยาของโรคมะเร็งได้ดีขึ้น รวมทั้งจัดทำแผนที่เส้นทางชีวเคมี ตัวบ่งชี้การเผาผลาญ และกระบวนการระดับโมเลกุลที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็ง
วิธีการดังกล่าว ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากตารวมของแมลง ส่งมอบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการทำงานของเนื้อเยื่อด้วยการวิเคราะห์สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ในลมหายใจออก น้ำลาย เหงื่อ และของเหลวอื่นๆ ในร่างกาย และใช้ชุดเซ็นเซอร์ที่ทำจากกราฟีน โดยเซ็นเซอร์กราฟีนจะทำหน้าที่เป็นดวงตา ส่วนปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ (generative AI) ทำหน้าที่เป็นสมองประมวลผลข้อมูล
วิธีการนี้ช่วยให้สามารถเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและระดับโมเลกุลในออร์แกนอยด์ (organoid) และแบบจำลองเซลล์สามมิติที่เลียนแบบลักษณะของเนื้อเยื่อธรรมชาติได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในงานวิจัยด้านชีวการแพทย์ อีกทั้งเป็นแนวทางที่มีต้นทุนต่ำ แม่นยำ และไม่รุกราน แตกต่างจากเทคโนโลยีที่มีอยู่ที่มักสร้างความเสียหายต่อเนื้อเยื่อหรือไม่สามารถเฝ้าติดตามกระบวนการภายในเนื้อเยื่อลึกได้
ในการศึกษาฉบับนี้ การเฝ้าติดตามสารอินทรีย์ระเหยง่ายในออร์แกนอยด์เนื้อเยื่อเต้านมของมนุษย์เผยให้เห็นข้อมูลเกี่ยวกับโปรตีนและจีโนมที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อปกติไปเป็นเนื้อเยื่อมะเร็ง
นอกเหนือจากการประยุกต์ใช้กับโรคมะเร็ง วิธีการนี้ยังมีศักยภาพในการวินิจฉัยปัญหาในอวัยวะต่างๆ และส่งข้อมูลสุขภาพแบบเรียลไทม์ไปยังระบบเฝ้าติดตามภายนอก ซึ่งคาดว่าจะช่วยเร่งความก้าวหน้าที่สำคัญด้านการแพทย์เฉพาะทาง และการตรวจหาโรคในระยะแรกเริ่ม