(แฟ้มภาพซินหัว : คนถ่ายรูปดอกไม้ที่เทศกาลฟลอริเอดในกรุงแคนเบอร์ราของออสเตรเลีย วันที่ 20 ก.ย. 2024)
ซิดนีย์, 25 ก.พ. (ซินหัว) -- วันอังคาร (25 ก.พ.) มหาวิทยาลัยเมลเบิร์นของออสเตรเลียเผยแพร่งานวิจัยฉบับใหม่ ซึ่งใช้เทคนิคการบันทึกภาพขั้นสูงมาศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างระบบหัวใจและสมองตลอดช่วงชีวิตของมนุษย์ และค้นพบข้อมูลใหม่เกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงตามอายุของระบบหัวใจและหลอดเลือดที่มีต่อเครือข่ายสมอง
แอนดรูว์ ซาเลสกี ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาศาสตร์จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์และภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ของมหาวิทยาลัยฯ กล่าวว่าผลการวิจัยเน้นย้ำสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดที่ไม่ดีนับเป็นปัจจัยเสี่ยงก่อโรคภัยเกี่ยวกับสมอง
ข้อสันนิษฐานจากงานวิจัยบ่งชี้ว่าการออกกำลังกายที่ส่งเสริมระบบหัวใจและหลอดเลือดในบุคคลทั่วไปอาจช่วยลดความเสี่ยงป่วยโรคหัวใจและโรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของระบบประสาท ซึ่งรวมถึงโรคสมองเสื่อม โรคพาร์คินสัน โรคเซลล์ประสาทกล้ามเนื้อ และโรคอื่นๆ ที่พบได้น้อยและมักเกิดขึ้นพร้อมกัน
ทีมวิจัยได้วิเคราะห์ภาพถ่ายของอวัยวะหลายส่วนจากผู้เข้าร่วมการศึกษาเกือบ 3,000 คน ซึ่งมีสุขภาพดีและอายุ 46-80 ปี เพื่อระบุพื้นที่เฉพาะในสมองที่ได้รับผลกระทบเมื่อระบบหัวใจและหลอดเลือดมีการเปลี่ยนแปลงตามอายุ
ทั้งนี้ ทีมวิจัยจำแนกเครือข่ายสัญญาณสำคัญ (salience) เครือข่ายค่าเริ่มต้น (default mode) และเครือข่ายควบคุมการเคลื่อนไหว (somatomotor) ของสมอง ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการควบคุมการทำงานของหัวใจและระบบประสาทอัตโนมัติ เป็นระบบที่ได้รับผลกระทบ พร้อมเสริมว่างานวิจัยนี้อาจช่วยกำหนดแนวทางการรักษาในอนาคต