(แฟ้มภาพซินหัว : วัตถุระเบิดตกค้างจากสงครามที่ถูกขุดพบจากพื้นดินของโรงเรียนมัธยมในจังหวัดกระแจะของกัมพูชา วันที่ 13 ส.ค. 2023)
พนมเปญ, 20 ม.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันอาทิตย์ (19 ม.ค.) แลง โกศล โฆษกสำนักปฏิบัติการทุ่นระเบิดและการช่วยเหลือผู้เสียหายแห่งกัมพูชา (CMAA) เผยว่ากัมพูชาได้เลื่อนเวลาการบรรลุเป้าหมายปลอดทุ่นระเบิดจากเดิมปี 2025 เป็นปี 2030 เนื่องจากความยากลำบากทางภูมิศาสตร์ในการค้นหาและเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามแนวชายแดน เนื่องจากพื้นที่ทุ่นระเบิดตามชายแดนกัมพูชา-ไทยนั้นมีลักษณะภูมิประเทศที่เป็นภูเขาและป่าทึบ
โกศลเผยกับสำนักข่าวซินหัวของจีนว่าพื้นที่ดังกล่าวมีทุ่นระเบิดอยู่หนาแน่น ส่งผลให้ต้องใช้เวลาและทรัพยากรมากขึ้นในการเข้าถึงและเก็บกู้ ซึ่งความท้าทายเหล่านี้ส่งผลให้สำนักฯ ตัดสินใจเลื่อนเป้าหมายการปลอดทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดตกค้างจากสงคราม (ERW) ออกไปเป็นปี 2030
โกศลระบุว่าสำนักฯ กำลังจัดทำนโยบายแห่งชาติด้านปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิด 2026-2030 เพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการและกลยุทธ์สำหรับการบรรลุเป้าหมายใหม่
อนึ่ง กัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดตกค้างจากสงครามมากที่สุด โดยประมาณการว่ามีทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดอื่นๆ ถูกทิ้งไว้ในกัมพูชาราว 4-6 ล้านชิ้นจากช่วงสงครามและความขัดแย้งภายในยาวนาน 3 ทศวรรษที่สิ้นสุดในปี 1998
สำนักฯ รายงานว่าการระเบิดของทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดที่หลงเหลือจากสงครามได้คร่าชีวิตผู้คน 19,834 ราย และมีผู้บาดเจ็บสาหัส 45,252 ราย ระหว่างปี 1979-2024