ซิดนีย์, 28 ต.ค. (ซินหัว) -- วันจันทร์ (28 ต.ค.) คณะนักวิจัยของออสเตรเลียเปิดเผยการใช้เทคโนโลยีเรดาห์ตรวจสภาพอากาศติดตามการอพยพของนกตามแนวชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลียอย่างแม่นยำเป็นครั้งแรก
ทีมงานจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ใช้ข้อมูลจากเรดาห์ตรวจสภาพอากาศย้อนหลัง 16 ปี ในการติดตามรูปแบบการอพยพของนกจากรัฐแทสเมเนียทางตอนใต้จนถึงควีนส์แลนด์ทางตะวันออกเฉียงเหนือ โดยทีมงานดังกล่าวนำโดยซวี่ซือ นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฯ ค้นพบว่าการอพยพของนกในออสเตรเลียแตกต่างจากการอพยพของนกในอเมริกาเหนือและยุโรป
ซวี่ ผู้เคยทำงานอยู่องค์กรที่ไม่ใช่รัฐบาลในจีน ซึ่งดำเนินงานสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพด้านวิทยาศาสตร์พลเมือง เผยว่าข้อมูลข้างต้นชี้ว่านกในออสเตรเลียมีทิศทาง จังหวะเวลา และความหนาแน่นในการอพยพแต่ละปีแตกต่างกับนกในซีกโลกเหนือที่อพยพตามฤดูกาลแบบตายตัวอย่างมาก
ตัวอย่างหนึ่งพบว่านกตาขี้ผึ้ง (silvereye) ซึ่งเป็นนกขนาดเล็กมากที่พบทั่วบริเวณแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ ได้อพยพจากแทสเมเนียไปยังฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของควีนส์แลนด์ แต่ไม่ใช่ทุกตัวที่อพยพไปที่นั่นทุกปี บางส่วนอพยพไปยังที่ที่อยู่ใกล้กว่า
การวิจัยนี้ยังค้นพบว่านกออสเตรเลียจำนวนมากอพยพตอนกลางวัน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่พบในซีกโลกเหนือ
ริชาร์ด ฟูลเลอร์ ผู้ร่วมเขียนผลการศึกษาจากคณะสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยฯ กล่าวว่าการใช้เรดาร์ตรวจสภาพอากาศติดตามนกจะช่วยคณะนักวิจัยสำรวจว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อรูปแบบการอพยพอย่างไร และอาจส่งเสริมความพยายามอนุรักษ์นกในออสเตรเลียและทั่วโลก
(แฟ้มภาพซินหัว : ฝูงนกอพยพบินเหนือพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำยาลู่เจียง เมืองตานตง มณฑลเหลียวหนิงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 18 เม.ย. 2023)