(แฟ้มภาพซินหัว : ผู้คนนั่งรถไฟชมทุ่งดอกผักกาดก้านขาวบานสะพรั่งในเมืองอันซุ่น มณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน วันที่ 6 เม.ย. 2025)
ปักกิ่ง, 7 เม.ย. (ซินหัว) -- กระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมของจีนเปิดเผยแผนการยกระดับเครือข่ายเฝ้าติดตามสิ่งแวดล้อมเชิงนิเวศระดับชาติให้เป็นระบบดิจิทัลและระบบอัจฉริยะ โดยภายในปี 2027 จีนมีเป้าหมายสำรวจเครือข่ายเฝ้าติดตามรุ่นใหม่ในภูมิภาคสำคัญ โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การซ่อมบำรุงแบบไร้มนุษย์ควบคุมและการเก็บตัวอย่างอัจฉริยะ พร้อมดำเนินการเฝ้าติดตามแบบมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ
แผนการระบุว่าจีนจะปรับปรุงระบบเครือข่ายเฝ้าติดตามสิ่งแวดล้อมเชิงนิเวศอย่างเป็นระบบภายในปี 2030 โดยผสานรวมเครือข่ายเฝ้าติดตามทางอากาศ ทางบก และทางทะเลเข้าไว้ด้วยกัน พร้อมจัดตั้ง "สมองอัจฉริยะ" ในขั้นต้น
เจี่ยงหั่วหัว หัวหน้าสำนักเฝ้าติดตามเชิงนิเวศและสิ่งแวดล้อมของกระทรวงฯ กล่าวว่าการดำเนินการครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวเป็นรูปธรรมซึ่งปูทางสู่การเฝ้าติดตามสิ่งแวดล้อมในรูปแบบดิจิทัลและอัจฉริยะ โดยในด้านการเฝ้าติดตามเสียง อุปกรณ์ตรวจวัดเสียงในพื้นที่เมืองไม่เพียงติดตามเสียงได้ในระดับเดซิเบล แต่ยังสามารถระบุแหล่งกำเนิดของเสียงรบกวนได้อีกด้วย
นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงการติดตามคุณภาพอากาศและน้ำด้วยระบบไร้มนุษย์ควบคุม รวมถึงการเก็บตัวอย่างและการวิเคราะห์แบบอัจฉริยะ และจะใช้อุปกรณ์อัจฉริยะขั้นสูงเฝ้าติดตามความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น กล้องอินฟราเรดและอุปกรณ์บันทึกเสียงนก เพื่อให้สามารถระบุชนิดของสิ่งมีชีวิตได้อย่างแม่นยำกว่าร้อยละ 85
เจี่ยงกล่าวอีกว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการสำรวจระยะไกลผ่านดาวเทียม จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการเฝ้าติดตามสิ่งแวดล้อมเชิงนิเวศของจีน และมีการออกนโยบายเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ปกป้องสิ่งแวดล้อมและอุปกรณ์ควบคุมระยะไกล