(แฟ้มภาพซินหัว : ภาพตัดจากศูนย์ควบคุมการบินอวกาศแห่งปักกิ่ง แสดงภาพหลี่ชง นักบินอวกาศของยานเสินโจว-18 ออกไปทำกิจกรรมนอกยานอวกาศ วันที่ 3 ก.ค. 2024)
ปักกิ่ง, 3 เม.ย. (ซินหัว) -- สถาบันวิจัยข้อมูลการบินและอวกาศ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เปิดเผยว่ามีการพัฒนาระบบสังเกตการณ์เครือข่ายดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้า (GSNO) เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของการรับรังสีดวงอาทิตย์ของพื้นผิวโลกอย่างแม่นยำ โดยใช้เทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลผ่านดาวเทียม
ระบบดังกล่าวทำหน้าที่เหมือน "เครื่องสแกนแสงอาทิตย์" สามารถให้ข้อมูลที่แม่นยำยิ่งขึ้นสำหรับหลายภาคส่วน เช่น การใช้พลังงานสะอาด การประมาณผลผลิตทางการเกษตร การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงสาธารณสุข
การศึกษานี้นำโดยนักวิจัยจากสถาบันวิจัยข้อมูลการบินและอวกาศ และดำเนินการร่วมกับนักวิจัยจากหลายสถาบันทั้งในจีนและต่างประเทศ โดยผลการศึกษาเผยแพร่ในวารสารดิ อินโนเวชัน (The Innovation)
การรับรังสีดวงอาทิตย์ของพื้นผิวโลก เป็นคำทั่วไปที่ใช้อธิบายองค์ประกอบของรังสีดวงอาทิตย์ที่รับเข้าสู่พื้นผิวโลก ได้แก่ รังสีอัลตราไวโอเลต แสงที่มองเห็นได้ อินฟราเรด และรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าอื่นๆ ที่มีความยาวคลื่นต่างกัน จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การผลิตทางการเกษตร และการใช้พลังงานแสงอาทิตย์
เทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลผ่านดาวเทียมมีคุณสมบัติด้านความต่อเนื่องของข้อมูลและครอบคลุมพื้นที่กว้าง ถือเป็นหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของการรับรังสีดวงอาทิตย์ของพื้นผิวโลก
ทีมงานได้บูรณาการดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้ารุ่นใหม่หลายดวงเข้ากับระบบสังเกตการณ์ฯ ซึ่งปัจจุบันระบบนี้สามารถให้ข้อมูลการติดตามการรับรังสีดวงอาทิตย์ในระดับใกล้เคียงโลกด้วยความละเอียดเชิงพื้นที่ 5 กิโลเมตร และความถี่การสังเกตการณ์ 1 ครั้งต่อชั่วโมง
ตัวอย่างเช่น ข้อมูลเกี่ยวกับรังสีคลื่นสั้นสามารถนำไปใช้หนุนการใช้ทรัพยากรพลังงานแสงอาทิตย์อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูลรังสีปฏิกิริยาสังเคราะห์แสงสามารถเป็นพื้นฐานใหม่สำหรับการประเมินผลผลิตทางการเกษตรและแหล่งกักเก็บคาร์บอน ขณะที่ข้อมูลรังสีอัลตราไวโอเลตคาดว่าจะนำไปประยุกต์ใช้ในด้านสาธารณสุข