ปักกิ่ง, 11 มี.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันจันทร์ (10 มี.ค.) เหมาหนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน เผยว่าการกล่าวอ้างว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐฯ เป็นการ "เอาเปรียบ" และต้องการที่จะแสวงหาความเสมอภาคทางการค้าแบบสัมบูรณ์นั้นขัดกับหลักการขั้นพื้นฐานที่สุดของเศรษฐศาสตร์ พร้อมเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยุติสงครามการค้า
เหมากล่าวข้อความข้างต้นระหว่างตอบคำถามเกี่ยวกับคำกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าของสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่ระบุว่าเศรษฐกิจของจีนพึ่งพาการส่งออกมากเกินไป และสหรัฐฯ ต้องการความสัมพันธ์ทางการค้าที่เป็นธรรมและเท่าเทียม
เหมาระบุว่าการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในปัจจุบันเป็นผลจากกลไกตลาดที่มีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง อาทิ โครงสร้างเศรษฐกิจ นโยบายการค้า และสถานะของเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยจีนไม่เคยมุ่งสร้างภาวะการค้าเกินดุล และในความเป็นจริงนั้น สหรัฐฯ ได้รับประโยชน์อย่างมากจากการค้ากับจีน
เหมากล่าวว่าหากพิจารณาจากตัวเลขทางสถิติ การส่งออกของบริษัทสหรัฐฯ ที่ตั้งอยู่ในจีนถูกนับรวมเป็นส่วนหนึ่งของภาวะการค้าเกินดุลของจีนเช่นกัน ส่วนสินค้าคุณภาพสูงในราคาประหยัดที่จีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ ยังช่วยเพิ่มอำนาจซื้อของผู้บริโภคชาวอเมริกัน และสร้างงานจำนวนมากในสหรัฐฯ โดยเฉพาะในภาคการขนส่ง ค้าส่ง ค้าปลีก และอีคอมเมิร์ซ ขณะที่สหรัฐฯ มีภาวะการค้าเกินดุลอย่างมหาศาลในภาคบริการ
เหมาย้ำว่าความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐฯ เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายหนึ่งเอาเปรียบอีกฝ่ายจริง ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจคงไม่สามารถดำเนินมาได้ไกลถึงขนาดนี้ ซึ่งการแปะป้ายว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจนี้เป็น "การเอาเปรียบ" และเรียกร้องความเสมอภาคทางการค้าแบบสัมบูรณ์นั้นขัดกับหลักพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์ และผู้ที่กระทำเช่นนี้กำลังดูถูกวิจารณญาณของบริษัทและผู้บริโภคชาวอเมริกัน
ทั้งนี้ เหมาระบุว่าสหรัฐฯ เป็นฝ่ายเริ่มต้นสงครามการค้ากับประเทศต่างๆ ทั่วโลกมาเป็นเวลาหลายปี แต่ไม่อาจหยุดยั้งการขาดดุลการค้าของตนที่เพิ่มขึ้นได้ โดยในปี 2024 ตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ สูงถึง 9.18 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 31.12 ล้านล้านบาท) และไม่ว่าจะเป็นสงครามภาษีหรือสงครามการค้า แต่ท้ายที่สุดแล้ว มันจะย้อนกลับมาทำร้ายประเทศที่เป็นฝ่ายเริ่ม จึงถึงเวลาแล้วที่สหรัฐฯ ต้องถอดบทเรียนและยุติแนวทางที่ผิดพลาดนี้
(แฟ้มภาพซินหัว : ธงชาติของจีนและสหรัฐฯ ในอาคารบนเกาะบาหลีของอินโดนีเซีย วันที่ 14 พ.ย. 2022)