(แฟ้มภาพซินหัว : ธารน้ำแข็งผู่รั่ว กั่งรื่อในเขตปกครองตนเองทิเบต (ซีจ้าง) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน วันที่ 4 ก.ย. 2024)
ลาซา, 30 ก.ย. (ซินหัว) -- คณะนักวิทยาศาสตร์ค้นพบธารน้ำแข็งที่หนาที่สุดบนที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต ซึ่งได้รับสมญานามว่า "หอเก็บน้ำแห่งเอเชีย" หลังจากพบผืนน้ำแข็งที่มีความหนามากที่สุดเกือบ 400 เมตร โดยเป็นส่วนหนึ่งของธารน้ำแข็งผู่รั่ว กั่งรื่อในอำเภอซวงหู เขตปกครองตนเองทิเบต (ซีจ้าง) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
การตรวจวัดดังกล่าวยืนยันว่าธารน้ำแข็งผู่รั่ว กั่งรื่อเป็นธารน้ำแข็งที่หนาที่สุดบนที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตในปัจจุบัน แทนที่ครอบน้ำแข็งกู่หลี่หย่า (Guliya Ice Cap) ในแคว้นอาหลี่
ธารน้ำแข็งแห่งต่างๆ เป็นตัวบันทึกข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภูมิอากาศของโลก โดยก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ขุดเจาะแกนน้ำแข็งลึก 308.6 เมตรจากครอบน้ำแข็งกู่หลี่หย่า ซึ่งก่อตัวในช่วงเวลากว่า 7 แสนปี
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์กำลังสกัดแกนน้ำแข็งจากธารน้ำแข็งผู่รั่ว กั่งรื่อ ซึ่งเชื่อว่ามีน้ำแข็งที่อายุเก่าแก่กว่าอยู่ด้วย
ลอนนี ธอมป์สัน นักวิชาการต่างชาติประจำสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน และสมาชิกสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์อเมริกันซึ่งมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจวัดครั้งนี้ กล่าวว่าปัจจุบันธารน้ำแข็งทั่วโลกกำลังเสื่อมโทรม เมื่อธารน้ำแข็งเหล่านี้ละลาย บันทึกทางประวัติศาสตร์ที่อยู่ภายในจะหายไปเช่นกัน ดังนั้นการสกัดและอนุรักษ์แกนน้ำแข็งจึงสำคัญต่อการเก็บกู้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์