(แฟ้มภาพซินหัว : โลโก้ติ๊กต็อกบนหน้าจอสมาร์ตโฟนในเมืองอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนียของสหรัฐฯ วันที่ 30 ส.ค. 2020)
ปักกิ่ง, 15 ม.ค (ซินหัว) -- บรรดาผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตชาวจีนบนแพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์ยอดนิยมแห่งหนึ่งต่างรู้สึกถึงการหลั่งไหลเข้ามาอย่างฉับพลันของผู้ใช้งานหน้าใหม่ชาวต่างชาติ ซึ่งเรียกขายตัวเองว่าเป็น "ผู้อพยพ" จากติ๊กต็อก (Tiktok) เนื่องด้วยวิตกกังวลความเสี่ยงว่ารัฐบาลสหรัฐฯ อาจสั่งแบนแอปพลิเคชันติ๊กต็อกภายในช่วงระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์
รายงานระบุว่า "เสี่ยวหงซู" (Xiaohongshu) แพลตฟอร์มของจีนที่ผสมผสานจุดเด่นของอินสตาแกรม (Instagram) และพินเทอเรสต์ (Pinterest) เข้าด้วยกัน เกิดกระแสติดแฮชแท็กอย่าง #TikTokRefugee หรือ #ผู้ลี้ภัยจากติ๊กต็อก เป็นจำนวนหลายแสนโพสต์จากบัญชีผู้ใช้งานที่ส่วนใหญ่ลงทะเบียนอยู่ในสหรัฐฯ
การพุ่งขึ้นดังกล่าวส่งผลให้เสี่ยวหงซูหรือที่ต่างชาติรู้จักกันในชื่อ "เรดโน้ต" (RedNote) ทะยานขึ้นครองตำแหน่งแอปพลิเคชันที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุดบนแอปสโตร์ (App Store) ในสหรัฐฯ ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน ขณะติ๊กต็อกของไบต์แดนซ์ (Bytedance) บริษัทอินเทอร์เน็ตจีนที่ดำเนินงานเป็นอิสระและมีผู้ใช้งานชาวอเมริกันราว 170 ล้านคน กำลังเสี่ยงถูกแบนในสหรัฐฯ
รัฐบาลวอชิงตันแสวงหาทางแบนติ๊กต็อกมานานหลายปีโดยอ้างอิงข้อวิตกกังวลด้านความมั่นคงของชาติที่ไม่มีมูลความจริงและความเสี่ยงด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่กล่าวหาอย่างเลื่อนลอย โดยติ๊กต็อกอาจถูกแบนในวันที่ 19 ม.ค. ตามที่ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ตัดสินจะบังคับใช้กฎหมายที่จะแบนติ๊กต็อกหรือบีบบังคับไบต์แดนซ์ขายกิจการแก่บริษัทสัญชาติอเมริกัน
ท่ามกลางการรอลุ้นผลลัพธ์สุดท้าย บรรดานักสร้างสรรค์เนื้อหาออนไลน์บางส่วนไม่ยอมเสียเวลาเปล่าประโยชน์กับคำสั่งแบนอันย้อนแย้งกับความเป็นจริง โดย "ผู้ลี้ภัยจากติ๊กต็อก" รายหนึ่งบนเสี่ยวหงซู โพสต์คลิปวิดีโอสั้นที่เผยว่า "พวกเขาพยายามแบนติ๊กต็อก (ด้วยข้ออ้างความมั่นคงของชาติ) แต่ตอนนี้ทุกคนแห่กันมาใช้แอปพลิเคชันของจีนที่แท้จริงแล้ว"
"เหล่าผู้ลี้ภัยจากติ๊กต็อกกำลังอพยพมายังแอปพลิเคชันของจีนโดยยินยอมให้ข้อมูลโดยตรงอย่างเต็มใจ" อีกหนึ่งโพสต์เสียดสีบนแอปพลิเคชันเอ็กซ์ (X) หรืออดีตทวิตเตอร์
การแบนติ๊กต็อกที่อาจเกิดขึ้นนั้นไม่ได้เป็นเพียงกรณีเดียว เพราะช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีของจีน รวมถึงหัวเหวย (Huawei) และดีเจไอ (DJI) ตกเป็นเป้าหมายของรัฐบาลวอชิงตันอย่างอยุติธรรมเพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาตรการต่างๆ มาจำกัดควบคุมการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีจีนเหล่านี้
หลี่ว์เซียง นักวิจัยอาวุโสประจำศูนย์จีนและโลกาภิวัฒน์ กล่าวว่าผู้ใช้งานติ๊กต็อกในสหรัฐฯ กำลังแสดงพลังต่อต้านว่าไม่ยอมรับการกดขี่กลุ่มบริษัทที่ไม่ใช่ของสหรัฐฯ ซึ่งดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจอย่างเป็นปกติ และการกระทำลักษณะดังกล่าวของกลุ่มนักการเมืองสหรัฐฯ กำลังสร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ของประชาชนชาวอเมริกันโดยตรง
หลี่ว์เสนอว่ารัฐบาลวอชิงตันควรปรับเปลี่ยนสู่มุมมองที่เปิดกว้าง ยอมรับการแข่งขันที่เป็นธรรม และส่งเสริมกลุ่มบริษัทของสหรัฐฯ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เครือข่ายสังคมออนไลน์ใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ใช้งานชาวอเมริกัน
การต้อนรับในจีน
"ผู้ลี้ภัยจากติ๊กต็อก" ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากผู้ใช้งานเสี่ยวหงซู ซึ่งแบ่งปันรูปถ่ายและคลิปวิดีโอร่วมกับสมาชิกผู้ใช้งานหน้าใหม่ นำเสนออาหารและการเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงบทเรียนภาษาฟรี เนื่องจากเนื้อหาบนเสี่ยวหงซูส่วนใหญ่เป็นภาษาจีน
เสี่ยวหงซูก่อตั้งปี 2013 เดิมทีมุ่งเน้นให้คำแนะนำเกี่ยวกับการชอปปิง ต่อมาปรับเปลี่ยนสู่การเป็นแพลตฟอร์มไลฟ์สไตล์ครบวงจร ซึ่งผสมผสานสื่อสังคมออนไลน์และอีคอมเมิร์ซเข้าด้วยกัน โดยผู้ใช้งานสามารถแบ่งปันเนื้อหาและซื้อสินค้าโดยตรงผ่านแอปพลิเคชัน สร้างประสบการณ์ชอปปิงแบบไม่มีสะดุดกวนใจ
ผู้ใช้งานเสี่ยวหงซูรายหนึ่ง ซึ่งทำงานเป็นล่ามภาษาอังกฤษในกรุงปักกิ่ง โพสต์ข้อความว่า "ยินดีต้อนรับทุกคนสู่ชุมชนที่เปี่ยมด้วยพลังความมีชีวิตชีวาและสีสัน" และโพสต์จากผู้ใช้งานอีกราย ซึ่งมาจากมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ระบุว่า "เริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ด้วยอาหารจีนกันเถอะ" พร้อมแนะนำเมนูเด็ดประจำมณฑลซื่อชวน
ขณะเดียวกันนักศึกษาชาวจีนบางส่วนเริ่มต้นขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับการบ้านภาษาอังกฤษของพวกเขา ซึ่งพวกเขาได้รับความช่วยเหลือจริงๆ โดย "ผู้ลี้ภัยจากติ๊กต็อก" ที่ใช้ชื่อ Rosie_in_Wonderland บอกว่าเสี่ยงหงซูคล้ายคลึงกับติ๊กต็อกมากในแง่การสร้างสรรค์เนื้อหาและใช้งานง่าย
"พวกคุณไม่ใช่ผู้ลี้ภัย แต่เป็นนักสำรวจต่างหาก ยินดีต้อนรับสู่โลกใบใหม่" ผู้ใช้งานเสี่ยวหงซูอีกรายในจีนกล่าว