(แฟ้มภาพซินหัว : อาคารสำนักงานขององค์การสหประชาชาติในนครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ วันที่ 29 ก.พ. 2024)
สหประชาชาติ, 10 ม.ค. (ซินหัว) -- รายงานสถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกของสหประชาชาติ (UN) ประจำปี 2025 ซึ่งเผยแพร่วันพฤหัสบดี (9 ม.ค.) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะยังคงเติบโตร้อยละ 2.8 ในปี 2025 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2024 และจะเติบโตร้อยละ 2.9 ในปี 2026
รายงานระบุว่าแม้อัตราเงินเฟ้อลดลง ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้น และมีการผ่อนปรนนโยบายการเงิน แต่เศรษฐกิจโลกยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่ และเศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับสารพัดความไม่แน่นอนอันมีนัยสำคัญ
อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงและการผ่อนปรนนโยบายการเงินของหลายประเทศอาจช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกในปี 2025 ในระดับหนึ่ง ทว่าความไม่แน่นอนยังคงเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้น และต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นในหลายประเทศ
ความท้าทายเหล่านี้ส่งผลกระทบหนักต่อกลุ่มประเทศเปราะบางที่มีรายได้ต่ำ โดยการเติบโตที่ต่ำกว่ามาตรฐานและไม่แข็งแกร่งนั้นคุกคามความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ยิ่งขึ้น
- เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตลดลงจากร้อยละ 2.8 ในปี 2024 เป็นร้อยละ 1.9 ในปี 2025 เนื่องจากตลาดแรงงานอ่อนตัวและการใช้จ่ายของผู้บริโภคชะลอตัวลง
- เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัวเล็กน้อย โดยผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) จะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.9 ในปี 2024 เป็นร้อยละ 1.3 ในปี 2025 ด้วยแรงหนุนจากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงและตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง พร้อมกับมีการรัดเข็มขัดทางการคลังและเผชิญความท้าทายระยะยาว เช่น ผลิตภาพเติบโตเบาบางและประชากรแก่ชราขึ้น
- เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกมีแนวโน้มเติบโตร้อยละ 4.7 ในปี 2025 ด้วยแรงขับเคลื่อนจากการเติบโตอย่างมั่นคงของจีน ซึ่งคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 4.8 กอปรกับการบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่งทั่วภูมิภาค
- เศรษฐกิจเอเชียใต้มีแนวโน้มยังคงเติบโตรวดเร็วที่สุด โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมจะเติบโตร้อยละ 5.7 ในปี 2025 ด้วยแรงหนุนจากการขยายตัวร้อยละ 6.6 ของอินเดีย
- เศรษฐกิจแอฟริกามีแนวโน้มเติบโตปานกลางจากร้อยละ 3.4 ในปี 2024 เป็นร้อยละ 3.7 ในปี 2025 ด้วยการฟื้นตัวของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทั้งอียิปต์ ไนจีเรีย และแอฟริกาใต้
รายงานเสริมว่าแม้เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่อเนื่อง แต่มีแนวโน้มเติบโตช้ากว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 3.2 ในช่วงปี 2010-2019 (ช่วงก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่) ซึ่งสะท้อนความท้าทายเชิงโครงสร้าง เช่น การลงทุนอ่อนตัว ผลิตภาพเติบโตช้า หนี้สินระดับสูง และแรงกดดันจากโครงสร้างประชากร
อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 4 ในปี 2024 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ในปี 2025 ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระของครัวเรือนและธุรกิจ และบรรดาธนาคารกลางแห่งสำคัญอาจตัดลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในปี 2025 ขณะแรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อในประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งมีแนวโน้มยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา โดยประมาณ 1 ใน 5 ของประเทศเหล่านี้อาจมีอัตราเงินเฟ้อระดับสองหลักในปี 2025
อัตราเงินเฟ้อด้านอาหารมีแนวโน้มยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีอัตราเงินเฟ้อด้านอาหารสูงเกินร้อยละ 5 ในปี 2024 ซึ่งสถานการณ์นี้ซ้ำเติมความไม่มั่นคงทางอาหารในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ
สภาพการเงินโลกที่ผ่อนคลายมากขึ้นอาจช่วยลดต้นทุนการกู้ยืม แต่การเข้าถึงเงินทุนยังคงไม่เท่าเทียมกันในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนา โดยประเทศรายได้ต่ำหลายแห่งยังคงเผชิญภาระหนี้สินระดับสูงและเข้าถึงเงินทุนระหว่างประเทศได้จำกัด
รายงานเน้นย้ำว่ารัฐบาลประเทศต่างๆ ควรใช้โอกาสที่เกิดจากการผ่อนปรนนโยบายการเงินในการให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะภาคธุรกิจเพื่อสังคมที่สำคัญ พร้อมเรียกร้องการดำเนินการระดับพหุภาคีเชิงรุกเพื่อแก้ไขวิกฤตที่เกี่ยวเนื่องกัน ทั้งหนี้สิน ความเหลื่อมล้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การผ่อนปรนนโยบายการเงินเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการฟื้นฟูการเติบโตของเศรษฐกิจโลกหรือแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นได้ รัฐบาลประเทศต่างๆ ต้องหลีกเลี่ยงนโยบายการคลังที่เข้มงวดเกินไปและควรมุ่งเน้นการระดมทุนด้านพลังงานสะอาด โครงสร้างพื้นฐาน และภาคธุรกิจเพื่อสังคมที่สำคัญ เช่น สุขภาพและการศึกษา