(ภาพจากสถาบันสัตววิทยาคุนหมิง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน : ตัวอย่างเขียดงูหงเหอที่ค้นพบใหม่ในอำเภอจิ่นผิง มณฑลอวิ๋นหนานทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน)
ปักกิ่ง, 9 ม.ค. (ซินหัว) -- คณะนักวิจัยจากสถาบันสัตววิทยาคุนหมิง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ค้นพบเขียดงู (caecilian) สายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นเขียดงูสายพันธุ์ที่สองที่พบในจีน โดยถูกตั้งชื่อว่าเขียดงูหงเหอในภาษาจีน เนื่องจากถูกพบในแคว้นปกครองตนเองหงเหอ กลุ่มชาติพันธุ์ฮาหนีและอี๋ มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
หนังสือพิมพ์ไซแอนซ์ แอนด์ เทคโนโลยี เดลี รายงานว่าการค้นพบครั้งนี้เพิ่มพูนความหลากหลายทางชีวภาพของจีน และให้ข้อมูลเชิงลึกอันมีค่าสำหรับการทำความเข้าใจวิวัฒนาการของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกมากยิ่งขึ้น โดยผลการค้นพบนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารการวิจัยสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกแห่งเอเชีย (Asian Herpetological Research) ไม่นานมานี้
ขณะนี้เขียดงูหงเหอถูกพบในพื้นที่จำกัดมากในอำเภอจิ่นผิงของอวิ๋นหนาน และมีจำนวนประชากรน้อยมาก นักวิจัยจึงเล็งเห็นว่าการเร่งทำงานเพื่อปกป้องประชากรและถิ่นที่อยู่อาศัยของเขียดงูชนิดนี้เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน
เขียดงูเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังกลุ่มแรกๆ ที่อาศัยอยู่บนบก อาจมีรูปร่างหน้าตาละม้ายคล้ายหนอนหรืองูที่มีตาเล็ก และมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจำแนกประเภทสิ่งมีชีวิตทางชีววิทยา ทว่าสายพันธุ์เขียดงูนั้นจัดว่าค่อนข้างหายากในบรรดากลุ่มสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่มีอยู่ โดยเป็นที่รู้จักในวงการวิทยาศาสตร์เกือบ 200 สายพันธุ์
ก่อนหน้านี้ จีนเคยพบเขียดงูเพียงสายพันธุ์เดียว ชื่อว่าเขียดงูสิบสองปันนา (Xishuangbanna caecilian) ซึ่งรายงานพบครั้งแรกในปี 1976 โดยหยางต้าถง นักสัตววิทยาจีนชื่อดังที่เชี่ยวชาญการศึกษาสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก โดยเขียดงูสิบสองปันนานั้นกระจายพันธุ์ส่วนใหญ่ในอวิ๋นหนาน กว่างซี และกว่างตง
อำเภอจิ่นผิง ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง แทบไม่มีรายงานการค้นพบเขียดงูมาก่อน ทว่าท้ายที่สุดนักวิจัยสามารถรวบรวมตัวอย่างเขียดงูสายพันธุ์ใหม่ 5 รายการในอำเภอแห่งนี้ระหว่างการสำรวจในปี 2024 ซึ่งลักษณะทางสัณฐานวิทยาของเขียดงูหงเหอนั้นแตกต่างจากเขียดงูสิบสองปันนาอย่างมาก ขณะที่การวิจัยเพิ่มเติมยืนยันว่าเขียดงูหงเหอนั้นเป็นสายพันธุ์ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน
เขียดงูหงเหอมีอีกชื่อหนึ่งว่าเขียดงูของหยาง (Yang's caecilian) เพื่อเป็นการยกย่องผลงานของหยางต้าถงที่ค้นพบสายพันธุ์เขียดงูในจีน โดยแม้ว่าเขียดงูทั้งสองชนิดจะอยู่ในชั้นอนุกรมวิธานเดียวกัน แต่แตกต่างกันตรงที่เขียดงูหงเหอนั้นไม่มีแถบสีเหลืองอ่อนเป็นแนวยาว ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของเขียดงูสิบสองปันนา
(ภาพจากสถาบันสัตววิทยาคุนหมิง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน : ตัวอย่างเขียดงูสิบสองปันนา ซึ่งเป็นเขียดงูสายพันธุ์แรกที่มีการค้นพบในจีน)