ซิดนีย์, 13 ธ.ค. (ซินหัว) -- นักวิจัยในออสเตรเลียพัฒนาแผ่นฟิล์มบางพิเศษและยืดหยุ่น ซึ่งสามารถจ่ายพลังงานให้กับอุปกรณ์สวมใส่โดยใช้ความร้อนจากร่างกายมนุษย์แทนแบตเตอรี่
ทีมวิจัยระบุว่าเทคโนโลยีใหม่นี้อาจสามารถนำไปใช้ในการระบายความร้อนของชิปอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งจะช่วยให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เฉินจื้อกัง หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีควีนส์แลนด์ กล่าวว่าความก้าวหน้าครั้งสำคัญนี้ได้ช่วยแก้ปัญหาสำคัญในการสร้างอุปกรณ์เทอร์โมอิเล็กทริก (thermoelectric) ที่มีความยืดหยุ่น ซึ่งสามารถแปลงความร้อนจากร่างกายให้กลายเป็นพลังงาน
เฉินระบุว่าอุปกรณ์เทอร์โมอิเล็กทริกแบบยืดหยุ่นสามารถสวมใส่บนผิวหนังได้อย่างสบาย และเปลี่ยนความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างร่างกายมนุษย์กับอากาศโดยรอบให้กลายเป็นไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ
คณะนักวิจัยเผยว่าแนวทางดังกล่าวมีศักยภาพในการเป็นแหล่งพลังงานที่ยั่งยืนสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ โดยในการศึกษาวิจัยครั้งใหม่นี้ ทีมงานได้ใช้ผลึกขนาดเล็กหรือตัวยึดเกาะนาโน (nanobinders) เพื่อผลิตฟิล์มเทอร์โมอิเล็กทริกแบบยืดหยุ่น
เฉินกล่าวว่าเราสร้างฟิล์มขนาด เอ4 (A4) ที่สามารถพิมพ์ได้ ซึ่งมีประสิทธิภาพเทอร์โมอิเล็กทริกสูงเป็นประวัติการณ์ มีความยืดหยุ่นเป็นพิเศษ ปรับขนาดได้ และมีต้นทุนต่ำ ทำให้เป็นเทอร์โมอิเล็กทริกแบบยืดหยุ่นที่ดีที่สุดตัวหนึ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน พร้อมเสริมว่าเทคโนโลยีนี้สามารถใช้สำหรับการจัดการความร้อนส่วนบุคคล โดยใช้ความร้อนจากร่างกายจ่ายพลังงานให้กับระบบทำความร้อน ระบายอากาศ และทำความเย็นแบบสวมใส่ได้
ทีมงานประกอบด้วยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีควีนส์แลนด์ มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ศูนย์วิจัยการผลิตพลังงานปลอดการปล่อยมลพิษเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนของสภาวิจัยออสเตรเลีย และมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ในสหราชอาณาจักร
(แฟ้มภาพซินหัว : พนักงานสาธิตการใช้มือกลชีวภาพแบบสวมใส่ได้ที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ ในงานเจดี โกลบอล เทคโนโลยี ดิสคัฟเวอรี คอนเฟอเรนซ์ ในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน วันที่ 25 พ.ย. 2020)