(ภาพจำลองชายโบราณที่เชื่อว่ามีชีวิตอยู่ในยุควัฒนธรรมหย่างเสา)
เจิ้งโจว, 24 ก.ย. (ซินหัว) -- สถาบันมรดกทางวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน เผยแพร่ภาพจำลองใบหน้าชายโบราณ 2 คนที่เคยอาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำเหลืองในช่วงยุคหินใหม่ ซึ่งพื้นที่นี้ถือเป็นแหล่งกำเนิดของอารยธรรมจีน โดยภาพจำลองสร้างขึ้นจากกะโหลกศีรษะที่ขุดพบระหว่างการขุดค้นเมื่อไม่นานนี้
แบบจำลองของหนึ่งในชายโบราณที่คาดว่ามีชีวิตอยู่เมื่อราว 5,600 ปีก่อนในสมัยวัฒนธรรมหย่างเสา มีอายุราว 40 ปี ส่วนชายอีกคนจากยุควัฒนธรรมหลงซานเมื่อราว 4,000 ปีก่อน มีอายุราว 50 ปี
เนื่องจากไม่มีบันทึกลายลักษณ์อักษรหรือภาพจากคนในสมัยโบราณ นักโบราณคดีจึงรวบรวมข้อมูลจากกะโหลกศีรษะอย่างพิถีพิถันเพื่อสร้างแบบจำลอง 3 มิติที่เต็มไปด้วยรายละเอียดซับซ้อน
หลี่ซื่อเหว่ย รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ของสถาบันฯ กล่าวว่านักโบราณคดีใช้แบบจำลองเหล่านี้สร้างกล้ามเนื้อขึ้นใหม่โดยอิงจากกลุ่มประชากรที่มีภูมิหลังทางพันธุกรรมใกล้เคียงที่สุด และใช้การวิเคราะห์ทางพันธุกรรมเพื่อคาดการณ์สีผิวและลักษณะของเส้นผม ซึ่งการจำลองใหม่นี้มีความแม่นยำถึงร้อยละ 90
กะโหลกศีรษะดังกล่าวถูกค้นพบที่แหล่งโบราณคดีหมู่บ้านหย่างเสาในเหอหนานระหว่างการขุดค้นระยะที่ 4 ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม 2020 แหล่งโบราณคดีแห่งนี้มีความสำคัญมากทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากการขุดค้นสถานที่แห่งนี้ครั้งแรกในปี 1921 ถือเป็นจุดกำเนิดของโบราณคดีจีนยุคใหม่
โครงการบูรณะใบหน้ามนุษย์โบราณริเริ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้ว โดยสถาบันฯ ได้ร่วมมือกับหลายองค์กรเพื่อฟื้นฟูใบหน้าคนโบราณเหล่านี้ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
"โครงการนี้ทำให้เราได้เห็นภาพใบหน้าบรรพบุรุษของเรา และให้ข้อมูลเชิงลึกที่ชัดเจนเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่หลากหลายในสังคมโบราณ" หลี่กล่าว
ปัจจุบันทีมวิจัยกำลังดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับดีเอ็นเอโบราณ เพื่อไขกระจ่างข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพลวัตทางประวัติศาสตร์ของประชากรมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์
(ภาพจำลองชายโบราณที่เชื่อว่ามีชีวิตอยู่ในยุควัฒนธรรมหย่างเสาและยุควัฒนธรรมหลงซาน)
(เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่สถานที่ขุดค้นทางโบราณคดี ระยะที่ 4)