(แฟ้มภาพซินหัว : พยาบาลทำงานที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองหวยอัน มณฑลเจียงซูทางตะวันออกของจีน วันที่ 12 พ.ค. 2024)
ปักกิ่ง, 30 พ.ย. (ซินหัว) -- เมื่อวันศุกร์ (29 พ.ย.) จีนได้เผยแผนอนุญาตการจัดตั้งโรงพยาบาลที่ต่างชาติเป็นเจ้าของอย่างเต็มรูปแบบในเมืองใหญ่บางแห่ง เพื่อเดินหน้าเปิดกว้างภาคอุตสาหกรรมการแพทย์เพิ่มเติม
แผนนำร่องจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีนและหน่วยงานรัฐบาลอีก 3 แห่งระบุว่า โรงพยาบาลข้างต้นจะได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการในปักกิ่ง เทียนจิน เซี่ยงไฮ้ หนานจิง ซูโจว ฝูโจว กว่างโจว เซินเจิ้น และเกาะไห่หนาน (ไหหลำ) โดยมติเห็นชอบปฏิรูปสำคัญที่ได้รับการรับรองจากผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือนกรกฎาคม เน้นย้ำว่าภาคบริการโทรคมนาคมและการแพทย์เป็นสาขาที่จำเป็นต้องเปิดกว้างเพิ่มเติม
แผนนำร่องระบุว่าทั้งสองภาคอุตสาหกรรมข้างต้นมีความต้องการในตลาดภายในประเทศสูงและได้รับความสนใจลงทุนจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ
อนึ่ง จีนมีจำนวนโรงพยาบาลสูงถึง 38,000 แห่งในปี 2023 โดยโรงพยาบาลรัฐครองสัดส่วนไม่ถึง 1 ใน 3 ของจำนวนโรงพยาบาลทั้งหมด แต่โรงพยาบาลรัฐกลับครองสัดส่วนร้อยละ 83.5 ของจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการรักษาทั้งหมดทั่วประเทศ
รายงานระบุว่าจีนได้อนุญาตให้มีการจัดตั้งสถาบันการแพทย์ร่วมทุนกับนักลงทุนต่างชาตินับตั้งแต่ปี 2000 ซึ่งปัจจุบันจีนมีสถาบันการแพทย์ร่วมทุนกับต่างชาติมากกว่า 60 แห่งหลังดำเนินการพัฒนามานานกว่า 20 ปี
แผนนำร่องข้างต้นไม่นับรวมโรงพยาบาลแพทย์แผนจีน และห้ามไม่ให้ต่างชาติเข้าซื้อกิจการโรงพยาบาลรัฐอย่างเด็ดขาด โดยตั้งเป้าจะนำเข้าทรัพยากรทางการแพทย์จากต่างประเทศระดับสูง ปรับปรุงบริการทางการแพทย์ และเพิ่มประสิทธิภาพของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ พร้อมทั้งระบุข้อกำหนดการดำเนินการตามแผนนำร่อง มาตรการการจัดการ และด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ แผนดังกล่าวอนุญาตให้โรงพยาบาลที่ต่างชาติเป็นเจ้าของอย่างเต็มรูปแบบสามารถดำเนินกิจการเป็นโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลเฉพาะทาง และโรงพยาบาลฟื้นฟูได้ โดยมีข้อจำกัดบางประการ อาทิ ห้ามดำเนินกิจกรรมทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงทางการแพทย์หรือจริยธรรม เช่น การปลูกถ่ายอวัยวะมนุษย์