(แฟ้มภาพซินหัว : คณะนักวิทยาศาสตร์ทำงานในห้องควบคุมส่วนกลางของแหล่งกำเนิดโฟตอนพลังงานสูง (HEPS) ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดแสงซินโครตรอนพลังงานสูงแห่งแรกในจีน วันที่ 19 ส.ค. 2024)
ปักกิ่ง, 21 ก.ย. (ซินหัว) -- รายงานคลังสมองที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ (20 ก.ย.) ระบุว่าจีนยังคงเป็นแหล่ง "ฮอต เปเปอร์" (hot papers) ทางวิทยาศาสตร์อันดับหนึ่ง ครองสัดส่วนร้อยละ 48.4 ของบทความรูปแบบเดียวกันนี้ทั้งหมดทั่วโลก
ฮอต เปเปอร์ คือ การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่เผยแพร่ภายในช่วง 2 ปีของการจัดหมวดหมู่ ซึ่งถูกนำไปใช้อ้างอิงมากอย่างมีนัยสำคัญในระยะสองเดือนล่าสุดจนอยู่ในอันดับสูงสุดร้อยละ 0.1 ของแต่ละกลุ่มสาขา
รายงานจากสถาบันข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และเทคนิคของจีน สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุว่าจีนได้เผยแพร่ฮอต เปเปอร์แล้ว 2,071 บทความ เมื่อนับถึงเดือนกรกฎาคม 2024 โดยมีสหรัฐฯ ตามมาเป็นอันดับที่ 2 ด้วยจำนวน 1,625 บทความ
จีนครองอันดับสองในด้านจำนวนบทความที่ได้รับการอ้างอิงสูง (highly cited paper) ซึ่งการศึกษาวิจัยเหล่านี้ได้รับการอ้างอิงอยู่ในอันดับร้อยละ 1 แรกของสาขาที่เกี่ยวข้องตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
รายงานระบุว่าจีนมีบทความที่ได้รับการอ้างอิงสูง 65,700 บทความ เมื่อนับถึงเดือนกรกฎาคมของปีนี้ ครองสัดส่วนร้อยละ 33.8 บทความรูปแบบเดียวกันนี้ทั้งหมดทั่วโลก และรักษาตำแหน่งอันดับสองเอาไว้ได้ ส่วนสหรัฐฯ ผลิตบทความที่ได้รับการอ้างอิงสูง 76,500 บทความ หรือร้อยละ 39.3 จากทั้งหมด และครองตำแหน่งอันดับหนึ่ง
รายงานเผยว่าในปี 2023 จีนได้เผยแพร่เอกสารงานวิจัยรวมทั้งสิ้น 395 ฉบับในวารสารวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง 3 อันดับแรก ได้แก่ เซลล์ (Cell) เนเจอร์ (Nature) และไซแอนซ์ (Science) ส่งผลให้อันดับโลกของจีนขยับขึ้นจากอันดับที่ 4 ในปี 2022 ขึ้นไปอยู่อันดับที่ 2 เมื่อปีก่อน
ทั้งนี้ จำนวนงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของจีนครองอันดับที่ 1 ของโลกมาเป็นเวลาหลายปีติดต่อกันแล้ว และจีนจะเดินหน้าทำงานเพื่อเติมเต็มช่องว่างด้านการผลิตงานวิจัยชั้นนำต่อไป